เตือนอันตรายกินเห็ดป่ามีพิษป่วยแล้ว 300 คน-ตาย 2 คน

เตือนอันตรายกินเห็ดป่ามีพิษป่วยแล้ว 300 คน-ตาย 2 คน

เตือนอันตรายกินเห็ดป่ามีพิษป่วยแล้ว 300 คน-ตาย 2 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ระมัดระวังการกินเห็ดป่า โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค. พบในรอบครึ่งปีนี้ป่วยจากเห็ดพิษแล้ว 300 คน เสียชีวิต 2 คน พบสูงสุดที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์แนะเลือกกินเห็ดป่าอย่างปลอดภัย

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในฤดูฝน ทุกภาคของประเทศไทยจะมีเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า สวน ไร่ ชาวบ้านมักเก็บเห็ดมาบริโภคหรือจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดจูน เห็ดไข่ห่าน เห็ดเผาะ เห็ดหูหนู เห็ดตับเต่าบางชนิด และเห็ดลม ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น แต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดป่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พบมากในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 300 คน เสียชีวิต 2 คน เฉพาะเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วย 97 คน เสียชีวิต 1 คน ตลอดปี 2552 มีประชาชนกินเห็ดป่ามีพิษ 1,610 คน เสียชีวิต 3 คน

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพิษภัยจากการกินเห็ดผ่านสื่อ ต่างๆ ในท้องถิ่น และให้เฝ้าระวัง ติดตามและประเมินสถานการณ์หากพบผู้ป่วย รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสอบสวนโรคทุกคนเมื่อพบผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และเก็บเห็ดป่าส่งตรวจชนิดของเห็ดและหาความเป็นพิษ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่อไป

"ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อหรือเก็บเห็ดป่าเห็ดธรรมชาติมา ปรุงเป็นอาหาร ควรเลือกเห็ดที่รู้จักดีและแน่ใจว่าไม่มีพิษ โดยสามารถสังเกตจากลักษณะภายนอก 10 ข้อ ได้แก่ 1.เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล 2.มีลักษณะเป็นสมองหรืออานม้าซึ่งบางชนิดต้มแล้วกินได้แต่บางชนิดมีพิษร้าย แรง 3.มีปลอกหุ้มโคน 4.มีโคนอวบใหญ่ 5.มีปุ่มปม 6.มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องคล้ายครีบปลา 7.มีหมวกเห็ดสีขาว 8.มีวงแหวนใต้หมวก 9.เห็ดตูมมีเนื้อในสีขาว และ10.เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ขอให้หลีกเลี่ยงอย่าเก็บมากินเพราะอาจเป็นเห็ดพิษได้" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษมีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด มักปรากฏหลังกิน 3 ชั่วโมง อาการพิษมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณที่กินเข้าไป เช่น 1.พิษจากเห็ดลูกไก่ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน 2.พิษจากเห็ดหมวกจีน มีอาการเหงื่อแตก คลื่นไส้ และปวดเกร็งในท้อง 3.เห็ดเกร็ดขาว มีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ตามด้วยซึม ชัก และหมดสติ 4.พิษจากเห็ดไข่ตายซาก เห็ดระโงกหิน และเห็ดไข่เป็ด เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ มีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ เกิดขึ้นในเวลาเกิน 6 ชั่วโมงและอาการมักทุเลา 1-2 วันต่อมา ต่อมามีตับอักเสบ จนถึงตับอักเสบ จนถึงตับวายได้

หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดคือทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที ซึ่งหากเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กินเห็ดเข้าไปมากๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook