นักวิชาการ ระบุ เด็กที่ก่อเหตุเผาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่ได้เป็นโรคจิต

นักวิชาการ ระบุ เด็กที่ก่อเหตุเผาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่ได้เป็นโรคจิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิชาการ ระบุ เด็กที่ก่อเหตุเผาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่ได้เป็นโรคจิต แต่เป็นเพราะระบบการสอนที่มุ่งแข่งขันเกินไปและขาดการแนะแนวที่ดี แนะโรงเรียนลดหลักสูตรที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อน เพื่อให้เด็กทำกิจกรรมมากขึ้น นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) กล่าวถึงกรณีนักเรียนชั้น ม.5 ก่อเหตุเผาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ว่า ไม่ใช่เป็นพฤติกรรมของโรคจิต แต่สะท้อนถึงการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ตลอดจนระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหาขั้นวิกฤติ ที่ต้องทบทวนและแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยการวางเพลิงครั้งนี้จุดประเด็นให้สังคมเห็นว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนมหิดลฯ เป็นระบบการแข่งขันที่เอาเป็นเอาตาย เด็กเก่งแล้งน้ำใจ ล้อเลียน แบ่งแยกชนชั้นระหว่างเด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัดชัดเจน คนที่เรียนอ่อนกว่ากลายเป็นผู้แพ้และเป็นฐานให้คนเก่ง ที่สำคัญสะท้อนว่าโรงเรียนมหิดลฯ ขาดระบบแนะแนวและการให้คำปรึกษาที่ดี เพราะเด็กคนนี้เคยพยายามเผาโซฟามาแล้วครั้งหนึ่ง ถ้ามีการให้คำปรึกษาเชื่อแน่ว่าเด็กจะไม่เผาเป็นครั้งที่สอง ดังนั้น โรงเรียนควรหันกลับมาทบทวนว่าจะช่วยเหลือเด็กที่มีผลการต่ำกว่าเกรด 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ได้อย่างไร ซึ่งคำตอบคือการปฏิรูปหลักสูตร ลดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนลง เพื่อให้เด็กไปทำกิจกรรมให้มากขึ้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธการ ซึ่งควรต้องเริ่มต้นตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 นี้ นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ยังเป็นบทเรียนให้ผู้ใหญ่หันกลับมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเองทั้งการใช้คำพูดหยาบคายในการอภิปรายในสภาฯ รวมถึงการเผาบ้านเผาเมืองเพราะสะท้อนว่าเด็กซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook