เสียงสะท้อน "พร ที่ประชาชนอยากได้ในวันวิสาขบูชา

เสียงสะท้อน "พร ที่ประชาชนอยากได้ในวันวิสาขบูชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
"วันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ในการเกิดเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากพุทธศาสนิกชนยึดถือวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญ แต่สหประชาชาติ ยังได้ประกาศให้เป็นวันสากลโลกที่สำคัญอีกวัน หนึ่งและยกย่องให้ "วันวิสาขบูชา เป็น "วันสันติภาพโลก ด้วยหลักธรรม คำสอนของศาสนา ที่จะนำพาไปสู่ความสงบสุขอีกด้วย วันวิสาขบูชาในแต่ละปี พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ มักจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร เวียนเทียน เพื่อเป็นเป็นสิริมงคล โดยถือเอาวันวิสาขบูชาเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของปี ในการที่จะนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต... และแม้เหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา จะสร้างความกังวลใจต่อประชาชนไม่ใช่น้อย แต่จากผลสำรวจของหลายสำนักวิจัยก็พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าประเทศไทยต้องก้าวเดินต่อไป โดยควรเริ่มต้นกันใหม่ในวันวิสาขบูชานี้ ด้วยการเริ่มต้นคิดดี ทำดี เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตและสังคม.... จากการสำรวจของ "สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถึงวันวิสาขบูชานี้ว่า "พร ที่ขอ เนื่องในวันวิสาขบูชาต่อบ้านเมืองเป็นอย่างไรนั้น มีข้อน่าสนใจหลายประการ สวนดุสิตโพล พบว่า "คำอธิษฐาน ที่ประชาชนอยากขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันดับ 1 คือ ขอให้บ้านเมืองสงบสุข ประเทศไทยกลับมาเป็นสยามเมืองยิ้มเหมือนเดิม ที่ร้อยละ 38.53 อันดับ 2 ขอให้คนไทยรักกัน ปรองดองกัน ไม่แตกแยก อันดับ 3 ขอให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่ดีกินดี อันดับ 4 ขอให้ตนเองและครอบครัวมีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ /ลูกๆ เป็นเด็กดีของพ่อแม่ ด้านนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสต พบว่า พร 1 ข้อที่ท่านอยากได้ อันดับ1 คือ อยากเห็นคนไทยรู้รักสามัคคี มีความปรองดอง รักและสมานฉันท์ ไม่ทะเลาะกัน รู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน อันดับ 2 ขอให้โลก รวมถึงประเทศไทย มีความสงบสุข กลับมาเหมือนเดิม ไม่มีสงคราม และความรุนแรง อันดับ 3 ขอให้ตนเอง ครอบครัว และคนไทยทุกคนมีความสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความเป็นอยู่ที่ดี อันดับ 4 ขอให้ในหลวงทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง หายจากอาการประชวร อันดับ 5 ขอให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันดับ 6 อยากให้คนไทยทุกคนมีศีลธรรม เป็นคนดี รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักหน้าที่ของตัวเอง อันดับ 7 อยากให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น และนายกรัฐมนตรีดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง จากผลสำรวจของทั้งสวนดุสิตโพล และนิด้าโพล สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในสังคมมากที่สุด และอยากให้ประเทศไทยที่เดิมเคยเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันโดยไม่แบ่งแยกแตกต่างกลับคืนมาดังเดิม สำหรับแนวทางที่จะทำให้พรนี้สมประสงค์นั้น ผลสำรวจของ นิด้าโพล สำรวจว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยเกิดความรัก สามัคคี และสันติสุขในประเทศ ส่วนใหญ่ตอบว่า จะหันหน้าเข้าหาเจรจาพูดคุยกันอย่างสันติวิธี รองลงมาคือ ส่งเสริม จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกให้รู้รักสามัคคี รักความสงบสุข จะปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ดีกินดี สังคมมีความเป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ ประชาชนมองว่า การใช้หลักธรรมคำสั่งสอนของศาามาใช้เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความรัก ความสามัคคี และสันติสุขในประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยผลสำรวจของนิด้าโพล ประชาชน ร้อยละ 37.99 ระบุว่า ทุกคนควรอยู่ในหลักของ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 รองลงมา คือ ควรใช้หลัก พรหมวิหาร 4 คือ มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (การวางเฉย) และการใช้ หลักขันติ การอดทนอดกลั้น หลักสังคหวัตถุ 4 คือ ทาน - การรู้จักให้ แบ่งปัน เสียสละ ปิยะวาจา การใช้วาจาที่ดีต่อกัน อัตถจริยา การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น สมานัตตา - การทำตัวให้เสมอต้นเสมอปลาย นอกจากนี้ ประชาชนระบุว่า ควรมีการใช้หลักอหิงสา ซึ่งเป็นแนวคิดทางศาสนา ที่ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นในทุกๆด้าน รวมถึงใช้หลัก อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และหลักมัฌชิมาปฏิปทา คือ การเดินทางสายกลาง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของสังคมในเวลานี้ ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่สะท้อนออกมาเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาของไทย ที่ทุกคนหวังที่จะเห็นสังคมไทยที่เป็นสุข ด้วยการใช้หลักศาสนา การละกิเลส เพื่อลดละการใช้อารมณ์ใส่กัน และเสียงสะท้อนทั้งหมดนี้ต่างก็ยังมีความหวังว่า สังคมพื้นฐานของไทยที่เป็นสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เดิม ไม่น่าที่จะยากเกินไปนัก ในการทำให้สังคมไทยกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่โดยใช้หลักธรรมนำชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook