เกิดอะไรขึ้น? เรือสินค้าชนสะพานถล่มในบัลติมอร์ โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด

เกิดอะไรขึ้น? เรือสินค้าชนสะพานถล่มในบัลติมอร์ โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด

เกิดอะไรขึ้น? เรือสินค้าชนสะพานถล่มในบัลติมอร์ โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศภาวะฉุกเฉิน เรือสินค้าชนสะพานถล่มในเมืองบัลติมอร์ ทำรถยนต์จมน้ำหลายคัน โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นเร่งสร้างสะพานและท่าเรือที่เสียหายจากเหตุเรือสินค้าชนสะพานถล่มในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ ระหว่างที่การค้นหาผู้สูญหายยังดำเนินต่อไป

ภาพจากวิดีโอแสดงให้เห็นสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ (Francis Scott Key Bridge) ถล่มลงไปในแม่น้ำพาแทพสโก (Patapsco River) หลังจากถูกเรือบรรทุกสินค้าติดธงสิงคโปร์ ต้าลี่ (Dali) แล่นชนเสารับน้ำหนักของสะพานเมื่อเวลาประมาณ 01:30 น. ของเช้าวันอังคาร

เจ้าหน้าที่ระบุว่า มีรถยนต์หลายคันอยู่บนสะพานขณะเกิดเหตุ นักประดาน้ำพยายามค้นหาผู้สูญหายที่คาดว่ามีจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นทีมงานซ่อมบำรุงทางหลวงทั้งหมด ตกลงไปในแม่น้ำพาแทพสโก ท่ามกลางระดับอุณหภูมิต่ำในระดับ 9 องศาเซลเซียส ขณะที่ทีมกู้ภัยยังทำงานแข่งกับเวลาในการช่วยเหลือคนงานอีก 6 รายที่ยังสูญหาย

ทางประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารว่า ตนจะขอให้คองเกรสจัดหางบเพื่อสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ และมีกำหนดการเยือนพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวว่าไม่มีเหตุผลที่จะตั้งข้อสงสัยเรื่องการก่อการร้ายในเหตุการณ์ครั้งนี้

ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ เวส มัวร์ ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รัฐบาลกลางสามารถส่งทรัพยากรต่าง ๆ มาช่วยในการรับมือเหตุการณ์สะพานถล่มครั้งนี้แล้ว

นายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ แบรนดอน สกอตต์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ "เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน" ขณะที่ หัวหน้าตำรวจเมืองบัลติมอร์ ริชาร์ด วอร์ลีย์ ระบุว่า ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นการชนสะพานโดยตั้งใจ

บริษัท Synergy Marine Corp ผู้จัดการเรือต้าลี่ มีแถลงการณ์ว่า กัปตันเรือและลูกเรือทุกคนปลอดภัยดีและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

สะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ แห่งนี้มีอายุ 47 ปี มีความยาว 2.5 กม. เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 695 กับตัวเมืองบัลติมอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ โดยสะพานนี้ได้ชื่อมาจากผู้ประพันธ์เพลง “The Star Spangled Banner” ที่กลายเป็นเพลงชาติของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook