รู้หรือไม่ ทำไมเรียกยาขี้ผึ้งว่า "ยาหม่อง" แปลว่าอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับพม่า

รู้หรือไม่ ทำไมเรียกยาขี้ผึ้งว่า "ยาหม่อง" แปลว่าอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับพม่า

รู้หรือไม่ ทำไมเรียกยาขี้ผึ้งว่า "ยาหม่อง" แปลว่าอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับพม่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรียกมาทั้งชีวิตก็เพิ่งจะรู้ ทำไมเรียกยาขี้ผึ้งว่า "ยาหม่อง" แปลว่าอะไร เกี่ยวข้องยังไงกับพม่า

ยาหม่อง มีลักษณะเป็นขี้ผึ้งเนื้อเหลวอ่อน มีกลิ่นหอม ใช้สำหรับทา ถู นวด บรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย หน้ามืดวิงเวียน คัดจมูกเนื่องจากหวัด หน้ามือตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฟกช้ำดำเขียว และอื่น ๆ อีกมากมาย ประกอบด้วยวัตถุดิบเป็นตัวยาสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยชนิดต่าง ๆ เป็นยาสามัญประจำบ้านของชาวไทยมานานกว่าร้อยปี

ทำไมถึงเรียก ยาหม่อง 

คนไทยเรียกพม่าว่า หม่อง (คำว่าหม่องใช้นำหน้าชื่อผู้ชาย ในภาษาพม่าแปลว่า น้อง) จึงเรียกยาที่มาจากพม่าเรียกว่า ยามาจากหม่อง โดยไม่ได้มีคำจำกัดความเฉพาะว่าเป็นยาขี้ผึ้งทาถูนวดโดยเฉพาะ แต่เป็นการเรียกยาโดยรวมที่มาจากพม่า ว่ายาหม่อง แก้ได้สารพัดโรค 

ยาหม่องตราเสือ เจ้าแรกในไทย แต่ไม่ใช่ของคนไทย

ตำนานของไทเกอร์ บาล์ม (Tiger Balm) เริ่มต้นจาก โอ ชู กิง ที่เคยดำรงตำแหน่งแพทย์สมุนไพรประจำราชสำนักขององค์พระจักรพรรดิของประเทศจีน ได้อพยพมายังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และเปิดร้านเวชภัณฑ์เล็กๆ ในเมืองย่างกุ้ง ชื่อว่า อัง เอิน ตง ในปลายปีพุทธศักราช 2413 เพื่อจำหน่ายยาที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเมื่อยล้าของร่างกาย 

ในปี พ.ศ. 2451 โอ ชู กิง ได้ถึงแก่กรรม และได้มอบร้าน อัง เอิน ตง ให้กับบุตรชายทั้งสองคน คือ โอ บุ้น โฮ้ว (แปลว่า เสือที่อ่อนโยน) และ โอ บุ้น ป่า (แปลว่า เสือดาวที่อ่อนโยน) เป็นผู้สืบทอดกิจการ โดยนำเอาวิชาความรู้ทางการแพทย์แผนโบราณมาผสมผสานเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ของฝั่งตะวันตกอย่างบาล์มและเมนทอลาทัม พี่น้องทั้งสองได้ขยายกิจการไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมทั้งในประเทศสิงคโปร์ และประเทศใกล้เคียงด้วย เช่น ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และไทย โดยมี โอ บุ้น โฮ้ว เป็นผู้บุกเบิกการตลาดและได้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ไทเกอร์ บาล์ม (Tiger Balm)

ยาหม่องของคนไทย

บริษัท บริบูรณ์โอสถ จำกัด ของคนไทย ได้ผลิต บริบูรณ์บาล์ม ตั้งชื่อโดยใช้คำว่า บาล์ม ไม่ได้ใช้คำว่ายาหม่อง และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปฉลากยา ในวันที่ 15 มิถุนายน 2493 กับกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่ ร้านขายของชำ ลี้เปงเฮง ได้ผลิตยาขี้ผึ้งชนิดหนึ่งมีสีเหลืองอ่อนและตั้งชื่อว่า ยาหม่องตราถ้วยทอง ตั้งแต่ปี 2487 โดยมีจุดมุ่งหมายว่าเป็นยาแก้สารพัดโรค และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายถ้วยทองไว้ จากนั้นในปี พ.ศ. 2493 นายโยธิน ลีลารัศมี ได้จดทะเบียน บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด กับกระทรวงพาณิชย์เพื่อทำการผลิตยา และทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งในปี พ.ศ. 2493 พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังไม่มีคำว่า ยาหม่อง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 บริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด ได้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มเติม เป็นรูปกล่องยาหม่องที่มีคำว่ายาหม่องตราถ้วยทอง นับเป็นหลักฐานการใช้คำว่า "ยาหม่อง" ในความหมายของยาขี้ผึ้งสารพัดประโยชน์เป็นครั้งแรกที่สามารถสืบค้นได้เป็นลายลักษณ์อักษร

ด้วยการโหมการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ของบริษัท ถ้วยทองโอสถ จำกัด ที่ใช้พันธมิตรทางธุรกิจจาก คณะละครวิทยุกันตนา โดยคุณประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้คำว่า ยาหม่อง เริ่มเป็นคำสามัญของยาขี้ผึ้งชนิดนี้ และเป็นคำที่คนไทยเข้าใจคำว่า ยาหม่อง เป็นยาแก้สารพัดโรคเหมือนดั่งเช่นปัจจุบันนี้

พ.ศ. 2525 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จำกัดความว่ายาหม่องคือยาขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook