ก๊าซพม่าเข้าระบบแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าคาด

ก๊าซพม่าเข้าระบบแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าคาด

ก๊าซพม่าเข้าระบบแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าคาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า เสร็จเร็วกว่าแผน 2 วัน จากเดิมหยุด 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน โดยเริ่มส่งก๊าซได้ตั้งแต่วันนี้ ทำให้การใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าน้อยลงจากแผน ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงจากเดิมคาดจะสูงถึง 4,000 ล้านบาท

นายณอคุณ กล่าวว่า สหภาพพม่าได้หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ประเทศไทยเนื่องจากได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อส่งก๊าซในพม่า จึงทำให้ก๊าซฯ หายไปประมาณวันละ 1,070 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ทุกหน่วยงานได้ประสานงานแก้ไขปัญหา ประกอบกับอากาศเย็นลง และ บมจ.ปตท. ได้เรียกก๊าซฯ จากแหล่งอ่าวไทยให้ผลิตมากขึ้นกว่าแผน ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติผลิตประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นแหล่งอาทิตย์ และเจดีเอ จึงทำให้การใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซในครั้งนี้น้อยลงเกือบครึ่งหนึ่ง โดยน้ำมันเตาใช้เพียง 70 ล้านลิตรจากคาดการณ์ 128 ล้านลิตร น้ำมันดีเซล ใช้เพียง 11 ลิตร จากคาดการณ์เดิม 16 ล้านลิตร และล่าสุดวันนี้การรับก๊าซจากพม่า-อ่าวไทย เพิ่มการผลิตได้จาก 3,417 เป็น 3,525 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (พีดีพี 2010 )ไม่ได้ประเมินในอัตราการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินไป จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก ของปีนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 เท่ากับ 23,304 เมกะวัตต์ สูงกว่าพีกที่คาดการณ์ตามแผนที่ 23,249 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะสำรองสูงถึงร้อยละ 20 แต่หากความต้องการยังสูงต่อเนื่องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่รองรับ จึงต้องทำให้พร้อม โดยตามแผนดังกล่าวจะศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง รวม 5,000 เมกะวัตต์ สำรองไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำแผนสำรองกรณีนิวเคลียร์สร้างไม่ได้ ตามแผนสำรองก็จะเพิ่ม การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นจาก 9 โรง เป็น 13 โรง โรงละประมาณ 800 เมกะวัตต์ เพื่อกระจายเชื้อเพลิงจากที่ปัจจุบันพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 แต่หากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทสร้างไม่ได้อีก ก็คงต้องใช้ก๊าซฯ เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนสูงมากจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า และต้องศึกษาการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในกรณีนี้ก็อาจจะต้องซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเกินร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของพลังงานทดแทนแม้จะมีการส่งเสริมแต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนพลังงานหลัก หรือ BASED LOAD เพราะกำลังผลิตไม่แน่นอน และต้นทุนสูงกว่า โดยนายกรัฐมนตรีก็ให้มาทบทวนด้วยเช่นกันว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในช่วงสิ้นสุดแผนต้นทุนจะเพิ่มถึง 18 สต./หน่วยจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ตามแผนพีดีพี 2010 (2553-2563) กำลังผลิตไฟฟ้าจากเพิ่มจาก 29,212 เป็น 65,547 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตใหม่ ประกอบไปด้วย พลังงานหมุนเวียน 4,617 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 7,137 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 16,670 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ (ปรับปรุงเขื่อนบางลาง และโครงการสูบกลับลำตะคอง) 512 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์ รวมเงินลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้า 3.469 ล้านล้านบาท กิจการระบบส่งไฟฟ้า 749,259 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 4.218 ล้านล้านบาท

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนโรงที่ 1และ 2 จะเข้าปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ แต่หากสร้างไม่ได้ ก็จะต้องเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้โรงใหม่เข้ามาทดแทน" นายณอคุณ กล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook