ราชทัณฑ์ ไฟเขียวทักษิณนอน รพ.ต่อ หลังรักษาตัวเกิน 120 วัน ป่วยหนักต้องรักษาใกล้ชิด

ราชทัณฑ์ ไฟเขียวทักษิณนอน รพ.ต่อ หลังรักษาตัวเกิน 120 วัน ป่วยหนักต้องรักษาใกล้ชิด

ราชทัณฑ์ ไฟเขียวทักษิณนอน รพ.ต่อ หลังรักษาตัวเกิน 120 วัน ป่วยหนักต้องรักษาใกล้ชิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงกรณีส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 เป็นต้นมา โดยพบว่านายทักษิณมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้นายทักษิณได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ
เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ

แพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้

กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ

เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563

โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้

ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตาม
อย่างเคร่งครัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook