สรุปม้วนเดียวจบ ผู้ท้าชิงเก้าอี้ ปธน.สหรัฐฯ ใครเป็นใคร เปิดคะแนนความนิยมวัดกันชัดๆ

สรุปม้วนเดียวจบ ผู้ท้าชิงเก้าอี้ ปธน.สหรัฐฯ ใครเป็นใคร เปิดคะแนนความนิยมวัดกันชัดๆ

สรุปม้วนเดียวจบ ผู้ท้าชิงเก้าอี้ ปธน.สหรัฐฯ ใครเป็นใคร เปิดคะแนนความนิยมวัดกันชัดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครเป็นใคร ในศึกเลือกตั้งตัวแทนพรรค ชิงเก้าอี้ ปธน. สหรัฐฯ พร้อมเปิดคะแนนความนิยมจากชาวอเมริกัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในปีหน้า โดยผู้เตรียมท้าชิงเป็นตัวแทนของพรรค และผู้สมัครอิสระต่างๆ ได้เริ่มเดินสายหาเสียงและขึ้นโต้วาทีในปีนี้เพื่อหวังชนะการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค เพื่อเป็นตัวแทนชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศในปี 2024

รอยเตอร์ รวบรวมข้อมูลผู้ท้าชิงตำแหน่งทั้งจากพรรครีพับลิกัน พรรคเดโมแครต และผู้สมัครทางเลือกที่สาม หลังจากเมื่อวันอังคาร อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกศาลสูงรัฐโคโลราโดตัดชื่อออกจากบัตรเลือกตั้งขั้นต้น เนื่องจากเห็นว่าเขาละเมิดรัฐธรรมนูญจากการมีส่วนร่วมก่อการจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021

โดนัลด์ ทรัมป์

ทรัมป์ถูกตั้งข้อหาอาญาสี่คดี ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ใช้การต่อสู้คดีของเขาเพื่อเพิ่มความนิยมและระดมทุนในกลุ่มฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน จนขณะนี้เขาได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดในพรรค อยู่ที่ 61% ตามผลสำรวจของ Reuters/Ipsos

อดีตผู้นำสหรัฐฯ วัย 77 ปีผู้นี้ กล่าวว่า การตั้งข้อหาต่อเขาเป็นการล่าแม่มดทางการเมืองเพื่อกีดกันไม่ให้เขาลงชิงตำแหน่ง ปธน. สมัยหน้า ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อกล่าวดังกล่าว

ทั้งนี้ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งอีกสมัย เขาเล็ง “เอาคืน” ศัตรูทางการเมือง และยังใช้ศัพท์การเมืองที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น เช่น การที่เขากล่าวว่าจะไม่เป็นเผด็จการ ยกเว้น “วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง” ทรัมป์ยังรับปากว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างการรื้อระบบราชการพลเรือน การยกเครื่องระบบประกันสุขภาพในยุคของอดีต ปธน.บารัค โอบามา การเพิ่มกำแพงการค้ากับจีน และการใช้นโยบายผู้อพยพที่เข้มข้นขึ้น เช่น การเนรเทศครั้งใหญ่ การยกเลิกการมอบสัญชาติให้ผู้ที่เกิดในสหรัฐฯ


นิกกี เฮลีย์

เฮลีย์ วัย 51 ปี เป็นอดีตผู้ว่าการรัฐเซาธ์แคโรไลนา และอดีตทูตประจำสหประชาชาติในยุคของทรัมป์ เธอมักชูจุดเด่นด้านอายุของเธอเมื่อเทียบกับทรัมป์และ ปธน.โจ ไบเดน วัย 81 ปี เช่นเดียวกับพื้นเพของเธอที่เป็นลูกของผู้อพยพชาวอินเดีย

เฮลีย์ยังเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง ปธน. สายอนุรักษ์นิยมเพียงคนเดียว ที่สามารถแถลงนโยบายประเด็นด้านเพศและเชื้อชาติได้ชัดเจนกว่าผู้ท้าชิงคนอื่น ๆ เธอยังมีจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในต่างประเทศด้วย

ผลสำรวจของ Reuters/Ipsos เผยว่า เธอได้รับคะแนนนิยม 12% ในกลุ่มฐานเสียงพรรครีพับลิกัน ขณะที่ผลสำรวจในระดับรัฐระบุว่า เธอมีคะแนนนิยมเหนือรอน เดอซานติส คู่แข่งในพรรคเดียวกัน ที่รัฐเซาธ์โรไลนาและรัฐนิวแฮมพ์เชอร์

รอน เดอซานติส

ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาผู้นี้ชูนโยบายขวาจัดกว่าทรัมป์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การทำแท้ง แต่เขายังคงมีคะแนนนิยมต่ำกว่าอดีต ปธน. ราว 50% โดยผลการสำรวจของ Reuters/Ipsos เมื่อเดือนธันวาคม ระบุว่า เขามีคะแนนนิยมอยู่ที่ 11%

เดอซานติส วัย 45 ปี ปรับกลยุทธ์หาเสียงและทีมงานมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังคงเพิ่มคะแนนนิยมให้เขาได้ไม่มากนัก โดยเขาเน้นเอาชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐไอโอวาที่จะมีในเดือน ม.ค. นี้ เขาได้รับการสนับสนุนจากคิม เรย์โนลส์ ผู้ว่าการรัฐไอโอวา และได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลการสำรวจระดับรัฐ

วิเวก รามาสวามี

รามาสวามีวัย 38 ปี เป็นอดีตผู้บริหารและนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เขาเล็งเก็บคะแนนนิยมจากกลุ่มรากหญ้าเพื่อหวังขึ้นเป็นคู่แข่งของทรัมป์ แต่ผลสำรวจของ Reuters/Ipsos เผยว่า เขาได้รับคะแนนนิยมเพียง 7% เท่านั้น

รามาสวามีสนับสนุนทรัมป์ยังเปิดเผย และยังมีท่าทีสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ รวมถึงแสดงท่าทีว่า เหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ของผู้สนับสนุนทรัมป์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 นั้น เป็นเหตุ “เกลือเป็นหนอน” เขายังรับปากว่าจะให้อภัยโทษทรัมป์ หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีด้วย


คริส คริสตี

คริสตี วัย 61 ปี เป็นที่ปรึกษาให้ทีมหาเสียงของทรัมป์เมื่อปี 2020 อย่างไรก็ตาม เขาหันมาวิจารณ์อดีต ปธน. อย่างเข้มข้น นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ และโจมตีทรัมป์มากขึ้นขณะที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ ถูกตั้งข้อมากขึ้น

อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์และอดีตอัยการรัฐผู้นี้ กล่าวว่า เขามั่นใจขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทรัมป์จะถูกตัดสินว่ามีความผิด และเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันไม่กี่คนที่มีจุดยืนว่า จะดำเนินการต่อทรัมป์แทนที่จะสนับสนุนเขา

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจครั้งล่าสุดเผยว่า คริสตีได้รับคะแนนนิยมเพียง 2% เท่านั้น


อาซา ฮัตชินสัน

อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอวัย 73 ปีผู้นี้ ประกาศตัวลงชิงตำแหน่ง ปธน. เมื่อเดือนเมษายน และเรียกร้องให้ทรัมป์ถอนตัวเพื่อจัดการกับคดีความต่าง ๆ โดยฮัตชินสันชูจุดเด่นในการเป็นผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ ซึ่งเป็นรัฐอนุรักษ์นิยมเข้มข้น และเขาเห็นว่า การเป็นผู้นำในรัฐดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขาสามารถทำให้นโยบายที่ฐานเสียงพรรครีพับลิกันสนใจ เช่น การลดภาษี การสร้างงาน เป็นจริงขึ้นมาได้

ทั้งนี้ ฮัตชินสันมีคุณสมบัติพอที่จะขึ้นโต้วาทีรอบแรกของพรรครีพับลิกันเพียงรอบเดียว และไม่ได้รับคะแนนนิยมในผลสำรวจของ Reuters/Ipsos เมื่อเดือนธ.ค.

 

โจ ไบเดน

ไบเดน วัย 81 ปี เป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาต้องหาทางโน้มน้าวฐานเสียงให้ได้ว่า เขามีกำลังและความพร้อมมากพอที่จะดำรงตำแหน่ง ปธน. ต่อไปได้อีกสี่ปี ท่ามกลางข้อกังวลต่อประเด็นอายุและคะแนนนิยมที่ต่ำของเขา ขณะที่พันธมิตรของไบเดนกล่าวว่า ไบเดนเชื่อว่าเขาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวที่จะเอาชนะทรัมป์ได้

ไบเดนประกาศว่า เขามีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และกล่าวถึงเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ โดยรอง ปธน. คามาลา แฮร์ริส จะลงชิงตำแหน่งคู่กับเขาอีกสมัยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเด็นเศรษฐกิจจะเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงของไบเดน โดยแม้สหรัฐฯ จะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามที่มีการคาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจยังเติบโตขึ้นเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ แต่เมื่อปีที่แล้ว ภาวะเงินเฟ้อก็พุ่งสูงขึ้นมาที่สุดในรอบ 40 ปี และระดับราคาปัจจัยเบื้องต้นอย่างอาหารและน้ำมัน ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเช่นกัน

ไบเดนยังเป็นผู้นำชาติตะวันตกต่าง ๆ ต่อประเด็รัสเซียรุกรานยูเครน โดยโน้มน้าวให้ชาติพันธมิตรลงโทษรัสเซียและสนบุสนยูเครน ขณะนี้ ไบเดนเผชิญความท้าทายในการผ่านงบช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมจากสภาล่างที่พรรครีพับลิกันควบคุมอยู่ รัฐบาลไบเดนยังสนับสนุนอิสราเอลต่อเหตุสงครามอิสราเอล-ฮามาสในกาซ่า ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย รวมถึงจากภายในพรรคเดโมแครต ให้เขาผลักดันข้อตกลงหยุดยิงให้มากขึ้น

ส่วนในสหรัฐฯ ไบเดนผลักโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ แต่ก็เหมือนจะไม่เป็นที่จดจำของฐานเสียงมากนัก ส่วนนโยบายคนเข้าเมืองของเขาก็ถูกวิจารณ์จากทั้งสองพรรค หลังจำนวนผู้อพยพที่ชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในยุคของรัฐบาลไบเดน

 


มารีแอนน์ วิลเลียมสัน

นักเขียนหนังสือขายดีแนวจิตวิทยาช่วยเหลือตนเองวัย 71 ปีผู้นี้ ลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เป็นครั้งที่สอง โดยชูประเด็นด้าน “ความยุติธรรมและความรัก” ในการหาเสียง

วิลเลียมสันเคยลงชิงตำแหน่ง ปธน. ครั้งแรกเมื่อปี 2020 แต่ถอนตัวออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งขั้นต้น เธอกลับมาประกาศชิงตำแหน่งอีกครั้งเมื่อเดือนมี.ค. และจะมีชื่อของเธอในบัตรเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐนิวแฮมพ์เชอร์

 

ดีน ฟิลลิปส์

ส.ส. สหรัฐฯ จากรัฐมินนิโซตาวัย 54 ปีผู้นี้ ประกาศลงชิงตำแหน่ง ปธน. เมื่อเดือนต.ค. โดยฟิลลิปส์กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าไบเดนจะชนะเลือกตั้งอีกสมัย

ฟิลลิปส์ ที่เป็นนักธุรกิจเงินล้านและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเจลาโตด้วย กล่าวในวิดีโอหาเสียงของเขาว่า “เรามีความท้าทายบางอย่าง เราจะซ่อมแซมเศรษฐกิจนี้ และเราจะซ่อมแซมอเมริกา”


โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์

นักเคลื่อนไหวต่อต้านวัคซีนวัย 69 ปี ลงชิงตำแหน่ง ปธน. ในฐานะผู้สมัครอิสระ หลังพยายามชิงตำแหน่งกับไบเดนในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่เขาได้รับเสียงสนับสนุนน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจออนไลน์ของ Reuters/Ipsos เมื่อวันที่ 5-11 ธ.ค. เผยว่า เคนเนดีอาจดึงคะแนนจากฐานเสียงของไบเดนได้มากกว่าฐานเสียงของทรัมป์ ซึ่งผู้ลงเลือกตั้งที่เป็นทางเลือกที่สามอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งโดยรวมได้ แม้ว่าตัวผู้ลงสมัครจะไม่ชนะการเลือกตั้งก็ตาม

เคนเนดีเป็นบุตรของโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี ส.ว. สหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 1968 ระหว่างหาเสียงลงชิงตำแหน่ง ปธน. เขายังเคยถูกอินสตาแกรมแบน เนื่องจากเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับวัคซีนและโรคโควิด-19 ก่อนจะถูกปลดแบนในเวลาต่อมา เคนเนดียังแพ้คดีที่ยื่นฟ้องให้กูเกิ้ล ซึ่งเป็นเจ้าของยูทูป ให้เผยแพร่คลิปวิดีโอ.ของเขาในยูทูปที่ถูกลบอีกครั้ง โดยคลิปดังกล่าวเป็นคลิปที่เคนเนดีตั้งคำถามต่อความปลอดภัยของวัคซีนโควิด

คอร์เนล เวสต์

เวสต์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักปรัชญา และนักวิชาการวัย 70 ปี ประกาศลงชิงตำแหน่ง ปธน. เมื่อเดือนมิ.ย. โดยคาดว่าเขาจะดึงคะแนนจากฐานเสียงสายหัวก้าวหน้าที่มีแนวโน้มลงคะแนนให้พรรคเดโมแครตได้

ก่อนหน้านี้ เวสต์ลงเป็นผู้สมัครจากพรรคกรีน แต่เขาประกาศในเวลาต่อมาว่า ผู้คน “ต้องการนโยบายที่ดีมากกว่าการเมืองที่แบ่งฝ่าย” และประกาศลงชิงตำแหน่งในนามอิสระ โดยเขาชูนโยบายยุติความยากจนและการันตีการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน

จิล สไตน์

สไตน์ แพทย์วัย 73 ปี ลงชิงตำแหน่ง ปธน. อีกครั้งกับพรรคกรีน หลังจากเคยลงแข่งขันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2016 โดยสไตน์กล่าวหาว่า พรรคเดโมแครตไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มคนทำงาน เยาวชน และต่อประเด็นสภาพภูมิอากาศ ขณะที่พรรครีกับลิกัน “ไม่ให้คำสัญญาไว้แต่แรกด้วยซ้ำ”

หลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแบบเหนือความคาดหมายเมื่อปี 2016 สไตน์ระดมทุนหลายล้านดอลลาร์เพื่อเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งทรัมป์ชนะในรัฐดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook