เอกสารหลุด! รบ.อิหร่าน ตั้ง "ศาลเคลื่อนที่" ลงโทษหญิงไม่สวมฮิญาบ คนดังเจอคุก 10 ปี

เอกสารหลุด! รบ.อิหร่าน ตั้ง "ศาลเคลื่อนที่" ลงโทษหญิงไม่สวมฮิญาบ คนดังเจอคุก 10 ปี

เอกสารหลุด! รบ.อิหร่าน ตั้ง "ศาลเคลื่อนที่" ลงโทษหญิงไม่สวมฮิญาบ คนดังเจอคุก 10 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอกสารลับรัฐบาลอิหร่านรั่วไหล ปรากฏ "บทลงโทษผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ" ท่ามกลางกระแสต่อต้านรุนแรงในสังคม

เมื่อคืนนี้ (21 ธันวาคม 2023) บีบีซีเปอร์เซียน (BBC Persian) เปิดเผยเอกสารลับของรัฐบาลอิหร่านถึงความพยายามจัดการต่อ ‘กลุ่มผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ’ โดยรายละเอียดส่วนหนึ่งระบุเรื่อง ‘ศาลเคลื่อนที่’ เพื่อลงโทษผู้ที่แต่งกายไม่เหมาะสม และบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในการลงโทษนักเรียนหญิงที่ฝ่าฝืน ท่ามกลางแรงปะทะของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเผยว่า กระทรวงความมั่นคงภายในอิหร่านจัดทำเอกสารในช่วงต้นปี 2023 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นรายละเอียดและข้อบังคับต่อผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบในสังคม โดยสรุปเนื้อหาหลักได้ 6 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. การเสนอแนวคิดจัดตั้งศาลเคลื่อนที่ และหน่วยตรวจสอบในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือรถไฟใต้ดิน เพื่อลงโทษผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ และทางการมีสิทธิปิดร้านค้าใดก็ตามที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการกระทำนี้

2. กระทรวงศึกษาธิการและตำรวจมีบทบาทในการลงโทษนักเรียนหญิง หากฝ่าฝืนไม่สวมใส่ชุดดังกล่าว

3. ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่สวมฮิญาบอาจถูกจำคุก 10 ปีขึ้นไป ในข้อหาสนับสนุนการทุจริต โดยเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้าบ้านเพื่อยึดโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ได้

4. เอกสารปรากฏส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายอันเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Hijab and Chastity Bill’ ที่เป็นข้อถกเถียงในช่วงที่ผ่านมา หลังสภาอารักษ์อิหร่าน (The Guardian Council) ผ่านกฎหมายดังกล่าวในเดือนกันยายน 2023 ซึ่งเป็นบทลงโทษสำหรับผู้หญิงที่แต่งกาย ‘ไม่เหมาะสม’ เช่น การไม่ใส่ฮิญาบ และการแต่งตัวโป๊เปลือยในที่สาธารณะ

5. สร้างฐานข้อมูลรวบรวมรายชื่อผู้หญิงทั่วประเทศจากทะเบียนรถ ซึ่งใช้ในกรณีที่มีผู้หญิงไม่สวมฮิญาบออกจากบ้าน

6. เพิ่มการตรวจสอบพนักงานในบริษัททั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีผู้ที่แต่งกายยั่วยุ ไม่เหมาะสม และไม่สุภาพในเวลาทำงาน

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า รัฐบาลอิหร่านยังไม่แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้น ขณะที่สื่อพิมพ์ท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนถูกตั้งข้อหาเผยแพร่เอกสารลับ

การสวมฮิญาบกลายเป็นสิ่งล่อแหลมในสังคมอิหร่านตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติ 1979 ครั้งหนึ่ง ประเด็นดังกล่าวเคยปลุกการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2022 หลัง แมฮ์ซอ แอมีนี (Mahsa Amini) หญิงสาวอิหร่านที่ถูกจับกุม ‘ข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสม’ เธอเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจอย่างไร้สาเหตุ

ทว่าการเรียกร้องครั้งนั้นจบลงด้วยโศกนาฏกรรม รัฐบาลอิหร่านปราบปรามและทารุณกรรมประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ผู้บาดเจ็บนับพันคน อีกทั้งยังปรากฏเรื่องราวของเหยื่อที่ถูกทรมานและข่มขืนในคุกนับครั้งไม่ถ้วน

ในปัจจุบัน ขบวนการต่อต้านการสวมฮิญาบยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบีบีซีระบุว่า ยังมีผู้หญิงราว 20% ที่ไม่สวมชุดฮิญาบออกนอกบ้าน เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกฎหมายจากรัฐบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook