ประวัติศาสตร์ "ก๋วยเตี๋ยว" ในประเทศไทย มีตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาฮิตยุคจอมพล ป.

ประวัติศาสตร์ "ก๋วยเตี๋ยว" ในประเทศไทย มีตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาฮิตยุคจอมพล ป.

ประวัติศาสตร์ "ก๋วยเตี๋ยว" ในประเทศไทย มีตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาฮิตยุคจอมพล ป.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติศาสตร์ "ก๋วยเตี๋ยว" ในประเทศไทย มีตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาฮิตยุคจอมพล ป. ที่รณรงค์ให้คนกินก๋วยเตี๋ยวช่วยชาติ

ก๋วยเตี๋ยว ข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดคือน่าจะมีต้นกำเนิดมาจาก “จีน” จากหลักฐานในหนังสือ อิลมีลีโอเน (Il Milione) หรือ บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ได้กล่าวถึง “บะหมี่” ในช่วงที่เขาเดินทางไปจีนตามเส้นทางสายไหม สมัยกุบไลข่าน หรือราวๆ ปี 1274 – 1295  

ก๋วยเตี๋ยว เป็นหนึ่งในอาหารประเภทเส้น ที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าโดยมากจะลวกให้สุกในน้ำเดือด สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาใส่เครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ นิยมรับประทานทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง นิยมใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือช่วยรับประทาน

คำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" อาจจะมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนหรือภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยแต้จิ๋วอ่าน "ก๋วยเตี๊ยว" ฮกเกี้ยนอ่าน "ก๊วยเตี๋ยว" ส่วนในจีนกลางจะอ่านว่า "กั่วเถียว" (guǒtiáo) แปลว่า เส้นข้าวสุก เป็นคนละคำกับ 粉条/粉條 (fěntiáo) ที่หมายถึงวุ้นเส้น หรือ 面条/麵條 (miàntiáo) ที่หมายถึงบะหมี่

สันนิษฐานกันว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยมีมาเมื่อประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย ว่ากันว่าเป็นยุครุ่งเรืองของอาหาร เริ่มมีการดัดแปลงอาหารต่างชาติ ให้เข้ากับวัตถุดิบและรสชาติที่ถูกปากชาวอยุธยา เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด จากโปรตุเกส หรือพวกแกงกะทิที่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย คาดว่าชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ และเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทย

ในช่วงปลายอยุธยา อิทธิพลของอาหารจีนเริ่มมีมากขึ้น “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ว่าด้วยการค้าขายนอกกรุง สมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงหนึ่งระบุว่า “บ้านในคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุราเลี้ยงสุกรขาย แลทำเส้นหมี่แห้งขาย”

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ก๋วยเตี๋ยว กลายเป็นอาหารยอดนิยม ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนบริโภคก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าหากประชาชนหันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติที่ตกต่ำจากภาวะสงครามในขณะนั้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของจอมพล ป. ในสมัยนั้นว่า

"อยากให้ พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ ทั่วกันเพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อร่างกายมีรสเปรี้ยว เค็มหวาน พร้อมทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวันวันหนึ่งจะมี คนกินก๋วยเตี๋ยว สิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์ เท่ากับเก้าแสนบาทเป็นจำนวนเงินหมุนเวียน มากพอใช้เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาท ก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook