หมอนรองศีรษะจากยางพารา

หมอนรองศีรษะจากยางพารา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ช่วยผู้ป่วยแผลกดทับขณะผ่าตัด

ปัจจุบันวงการสาธารณสุขของไทยต้องนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์คิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี การส่งเสริมให้นักวิจัยไทยสามารถคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมือทางการแพทย์เองได้ จะช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก

ที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝีมือคนไทยถือว่ายังมีไม่มาก ซึ่งหนึ่งในผลงานวิจัยที่น่าสนใจที่นำมาเสนอในวันนี้ก็คือ หมอนรองศีรษะจากยางพาราป้องกันแผลกดทับจากการผ่าตัด ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ จากคณะแพทยศาสตร์ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศ.นพ.วิทูร ลีลามานิตย์ จากคณะแพทยศาสตร์

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการประดิษฐ์วัสดุรองรับเพื่อป้องกันบริเวณที่จะเกิดแผลกดทับสูง เช่น บริเวณศีรษะและใบหน้า โดยใช้ยางพาราแปรรูป ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายภายในประเทศ เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ยางพารา และลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง โดยหมอนเจลฯ หากต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 บาท ในขณะที่หมอนเจลฯ ที่วิจัยและผลิตขึ้นเองมีราคาประมาณ 4,500 บาท เท่านั้น

ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่าแผลกดทับเกิดจากแรงกดจากภายนอกกระทำต่อผิวหนังทำให้เกิดความดันกดทับระหว่างผิวสัมผัส มักพบในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัวได้เป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยทีสลบและผ่าตัดเป็นเวลานาน เช่น การผ่าตัดสมอง ผ่าตัดในช่องปอด หรือการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการผ่าตัดมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะต้องนอนผ่าตัดในท่านอนคว่ำ หากเกิดแผลกดทับบริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้ออาจเกิดความพิการ ทำให้ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นอีก

การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตทำได้โดยการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง แต่ในผู้ป่วยที่ดมยาสลบและผ่าตัดเป็นเวลานานไม่สามารถขยับตัวได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดแรงดันกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ทางคณะวิจัยจึงได้คิดประดิษฐ์หมอนเจลรองศีรษะป้องกันแผลกดทับ (Latex polymer head pad for intraoperative pressure sore prevention) ขึ้น โดยผลิตจากพอรียูรีเทนเจลแล้วห่อหุ้มด้วยยางพาราแปรรูปที่ปรับโมเลกุลแล้ว เพื่อให้สามารถยืดหยุ่นได้ตามแรงกดทับ และปรับความนิ่มของเจลให้เหมาะกับการใช้งาน

รูปทรงของหมอนออกแบบเพื่อรองรับศีรษะสำหรับใช้ในการผ่าตัดท่านอนตะแคงและคว่ำ เพื่อลดแรงกดบริเวณใบหน้า หน้าผาก แก้ม และลูกตา รวมถึงออกแบบให้มีช่องสำหรับใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อดูแลผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางวงนอก 22 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางวงใน 10 ซม. และ สูง 5 ซม.

ผศ.พญ.นลินี กล่าวต่อว่า จากการนำไปทดลองใช้จริงในผู้ป่วยจำนวน 51 ราย ที่มาผ่าตัดและให้ยาระงับความรู้สึกในห้องผ่าตัดใหญ่ ของ รพ.สงขลานครินทร์ โดยจัดท่านอนคว่ำหรือนอนตะแคง ใช้เวลาในการผ่าตัดมากกว่า 2 ชั่วโมง พบว่า ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาในการผ่าตัดของผู้ป่วยที่ใช้หมอนเจลฯ ผู้ป่วยต้องนอนนิ่งและเกิดแรงกดเป็นเวลา 232 นาที หรือเกือบ 4 ชั่วโมง ซึ่งผย 35 ราย หรือร้อยละ 68.6 ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสหมอนเจลฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และผู้ป่วย 16 ราย หรือร้อยละ 31.4 ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสหมอนเจลฯ เกิดรอยแดงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยที่ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง สามารถหายกลับสู่สภาพเดิมภายในเวลา 30-60 นาที หมอนเจลฯที่ประดิษฐ์ขึ้น จึงสามารถลดการเกิดแผลกดทับได้ดี ทำให้ผิวหนังถูกทำลายน้อยลง แม้ผู้ป่วยถูกกดทับอยู่นานกว่า 4 ชั่วโมงก็ตาม

ปัจจุบันหมอนรองศีรษะที่ประดิษฐ์ขึ้นกำลังอยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร รวมถึงได้มีการนำไปลองใช้ในห้องผ่าตัดใหญ่ของโรงพยาบาล อื่น ๆ ด้วย อาทิ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งหากผลตอบรับดีทางคณะวิจัย มีแนวคิดจะประดิษฐ์วัสดุรองรับป้องกันแผลกดทับในรูปแบบอื่น ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น เช่น แผ่นรองนั่งป้องกันแผลกดทับ สำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และหมอนรองรักแร้ป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดท่านอนคว่ำ

รวมถึงในอนาคตจะประดิษฐ์และพัฒนาวัสดุป้องกันแผลกดทับ เพื่อรองรับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด และจะพัฒนาต่อยอดเพื่อประดิษฐ์เป็นที่นอนและแผ่นรองนั่งบนรถเข็นสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต อีกต่อไป ด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook