ขับออกจากพรรค หมออ๋องไม่ใช่เคสแรก ย้อนเหตุ "ธรรมนัส-แก๊ง" ถูกดีดพ้น พปชร.

ขับออกจากพรรค หมออ๋องไม่ใช่เคสแรก ย้อนเหตุ "ธรรมนัส-แก๊ง" ถูกดีดพ้น พปชร.

ขับออกจากพรรค หมออ๋องไม่ใช่เคสแรก ย้อนเหตุ "ธรรมนัส-แก๊ง" ถูกดีดพ้น พปชร.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนกันที่พรรคก้าวไกลขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือหมออ๋อง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ สส. จ.พิษณุโลก เขต 1 ออกจากพรรค กลายเป็นเรื่องที่คนนอกพรรคเดือดร้อนกันมากเหลือเกิน

ไม่เพียงแต่นายอดิศร เพียงเกษ สส.คนดัง นักแต่งกลอน จากพรรคเพื่อไทย มีท่าที ต้องการตรวจสอบเรื่องนี้เหลือเกิน นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็วิจารณ์ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวของพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์เป็นเทคนิคทางการเมือง และบอกว่าที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย 

คำถามคือจริงหรือ?

ย้อนรอยขับธรรมนัสจากพรรค 

เมื่อกลางปี 2564 มีการรายงานว่าเกิดความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ โดย สส. กลุ่มหนึ่งมองว่า บทบาทในการดูแล สส. ของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นน้อยเกินไป และการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นทำให้ประชาชนทั่วไปจดจำได้ว่ามีผลงานอะไรบ้างไม่ได้ จึงทำให้ สส. กลุ่มหนึ่งเกรงว่าอาจไม่ประสบความสำเร็จนักในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เหตุนี้ทำให้มีกระแสข่าวเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2564 ว่า สส. พรรคพลังประชารัฐกลุ่มหนึ่งอาจลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีนายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว แต่วันที่ 1 ก.ย. นายธรรมนัสก็แถลงข่าวปฏิเสธเรื่องนี้ทันที

วันที่ 2 ก.ย. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ซึ่งเป็น สส. จ.เชียงราย ของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ลุกขึ้นวิจารณ์ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อ้างว่ามีการแจกเงินให้ สส. รายละ 5 ล้านบาทที่ห้องพักนายกรัฐมนตรีชั้น 3 ของอาคารรัฐสภา เพื่อแลกกับการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธโดยอ้างว่ากระเป๋าที่นำมานั้นมีแต่เอกสาร

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีการรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับเมินนายธรรมนัสขณะยกมือไหว้กลางห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายธรรมนัสก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์

หลังความขัดแย้งนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามา มีบทบาทในพรรคมากขึ้น จนมีรายงานว่า พล.อ.ประวิตรขู่ว่าจะลาออกกลางวงหารือถ้าขับไล่นายธรรมนัสพ้นจากพรรค

ฟางเส้นสุดท้ายของเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชุมพรและสงขลาเมื่อต้นปี 2565 ซึ่งนายธรรมนัสรับบทบาทเป็นผู้นำในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ประสบความสำเร็จเลย จนมีกระแสข่าวว่า คนในพรรคโทษว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของนายธรรมนัส และอีกกระแสก็บอกว่า นายธรรมนัสร้องขอให้พรรคมีมติขับตนและพวกออกจากพรรคด้วย จนในที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็มีมติขับนายธรรมนัสและพวกออกจากพรรคจริงๆ แต่อ้างว่านายธรรมนัสแหละพวกสร้างกระแสให้คนในภาคเกิดความแตกแยกกัน ไม่ได้ร้องขอตามที่มีกระแสข่าว

กรณีนี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ไม่พลาดที่จะยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ว่ามติที่ขับนายธรรมนัสและพวกออกจากพรรคนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หนึ่งในข้องกล่าวหา คือ นายศรีสุวรรณอ้างว่ามติดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเร่งรีบไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนหรือสอบสวน ทั้ง 21 คนนี้ก่อนขับออกจากพรรค

อย่างไรก็ตามในที่สุดนายธรรมนัสและพวกก็ย้ายเข้าไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาเลยมาถึงก่อนการเลือกตั้ง ปี 2566 นายธรรมนัสและพวกก็ย้ายเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

ดังนั้น แม้กรณีของนายปดิพัทธ์และนายธรรมนัสมีรายละเอียดและบริบทที่แตกต่างกัน แต่การขับออกจากพรรคเพื่อแยกการเดินที่ถูกมองว่าเป็นเทคนิคการทางเมือง จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับหมอ๋องเป็นกรณีแรกแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook