ชี้ขาดคดียึดทรัพย์ จุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ชี้ขาดคดียึดทรัพย์ จุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ชี้ขาดคดียึดทรัพย์ จุดเปลี่ยนการเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่หลากหลายฝ่ายต่างจับตาอยู่ ณ ตอนนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นร้อนแรง นัดฟังคำพิพากษา คดีทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ว่าผลออกมาเป็นเช่นไร

การต่อสู้ทางการเมืองแนวความคิด 2 ขั้วระหว่าง "รัฐบาล-ทหาร" กับ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ที่ยืดเยื้อมามากกว่า 3 ปี หลังมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนเกิดจุดเปลี่ยนเรื่อยมา

โค้งสุดท้ายจริงหรือไม่ ?

ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.พ. 2553) การตัดสิน คดีทรัพย์สิน ของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว จะเริ่มขึ้น ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม และกระแสที่ชาวโลกจับตามอง เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการตัดสินโทษ ครอบครัวชินวัตร ยึด หรือ ไม่ยึดทรัพย์สินเท่านั้น แต่หมายถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ว่า มีความยุติธรรม หรือไม่

"จุดเปลี่ยนของประเทศไทย" ในคราวนี้ กลายเป็นภาระหนักอึ้ง ต่อองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ท่าน ที่ต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดัน ความขัดแย้งที่อาจเกิดปะทุขึ้น และต้นเหตุท่าที "ยืดเยื้อ" และ "นองเลือด" ได้ทุกเมื่อ เพราะต่อให้คำตัดสินออกมาอย่างไร สุดท้าย อาจสร้างความสงบ หรือเพิ่มความเกรี้ยวกราดขึ้นได้

แม้ว่าผลจะออกมาในแง่บวก หรือ ลบ ท่าทีของ "กลุ่มคนเสื้อแดง นายใหญ่ และอดีตคนกันเองอย่างพรรคไทยรักไทย" ความเคลื่อนไหวที่ดูเสมือนมีนัยยะสำคัญที่ออกมาโร่ชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 12-14 มีนาคมนี้ พร้อมยังยืนกรานในธงเดิมที่มุ่งโจมตี "กลุ่มอำมาตย์ องคมนตรี รัฐบาล" ประเด็นหนึ่งยังคงอยู่ในเรื่อง "2 มาตรฐาน เรื่องการ ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ และเรื่องการกล่าวอ้างว่า รัฐบาลมีแผนการจะทำร้าย" แม้เหล่าคนเสื้อแดงจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับ "คดียึดทรัพย์" ก็ตาม

อีกด้านที่ชวนสร้างนัยยะให้เรื่องทางการเมืองไม่จบไม่สิ้น คือ คำพูดของ

"นายทักษิณ" กล่าวในรายการ people channel ทางสถานีประชาชน เรียกร้องขอความเห็นใจต่อศาลเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า อีก 2 วัน ข้างหน้าจะได้รับความเมตตา ความยุติธรรม รัฐบาลไม่ต้องลุ้นมาก เพราะเป็นหน้าที่ของอำนาจตุลาการ แต่รัฐบาลใช้รัฐทำหน้าที่แทน การประชาสัมพันธ์เป็นการเอารัฐมาเล่นการเมือง ก็ต้องขอขอบคุณลูกๆ และผู้ที่ให้การสนับสนุนตน แต่ก็มีความหวั่นไหวบ้าง เสียใจ น้อยใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกรรมที่ไม่ได้สร้าง นัยยะที่อาจส่งผลถึง พลังเงียบให้สั่นคลอน

ความเคลื่อนไหวที่ผุดข่าว ทั้งในด้านความเชื่อมั่น เพื่อเรียกร้องกลุ่มคนบางเสียงให้สนับสนุน หากมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า ต่างฝ่ายต่างขั้วมีแนวทาง และวิธีการที่โต้ตอบกันจนชนิดมันส์หยด แต่นั่นไม่ได้สลักสำคัญอะไร หากการเรียกร้องเป็นไปอย่างระเบียบเรียบร้อย ไม่กระทบคนธรรมดาเดินดินที่ทำงานหาเช้ากินค่ำต้องเดือดร้อน

แม้จะหวังว่า "ความรุนแรง" คงไม่บังเกิด ทว่า "รัฐบาล-ทหาร"  ต่างเรียกความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในวันตัดสิน พร้อมคำมั่นของ ผบ.ทบ. ที่ออกแถลงแสดงจุดยืน ว่าไม่เลือกสีใด

"ผมยืนยันอีกครั้งว่า จะไม่มีการทำปฏิวัติรัฐประหารล้านเปอร์เซ็นต์ กองทัพพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในการดูแลบ้านเมืองให้เกิดความเรียบร้อย ที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองทำให้บ้านเมืองเสียหายมาก ทหารและตำรวจจะต้องไม่มีการแบ่งข้าง หรือแบ่งสี และผมภูมิใจที่ไม่ได้เป็นพวกใคร ผบ.ทบ.คนนี้ไม่มีสี มีแต่สีของชาติเท่านั้น"

ประโยคที่คงทำให้ใครหลายคนต้องได้กลับไปคิด ว่าวันที่ 26 ก.พ.และหลังจากนี้ ประเทศจะเป็นเช่นไร จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับเหตุการณ์ "7 ตุลาฯ" ที่ยังคงส่งผลด้านลบของประเทศ และประชาชนมวลชนที่ปรารถนาความสันติ หรือ จะกลับสู่ประเทศสงบสุขอย่างเช่นอดีตกาล

อีกแง่มุมหนึ่ง "ศาลฎีกา" ตัดสิน ยึดทรัพย์-ยึดบางส่วน-ไม่ยึดเลย ของอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งข้อใด ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อบ้านเมืองอยู่ดี เพียงแต่ว่ารูปธรรมที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้จะ "รุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด" เหมือนเฉกเช่นที่แล้วมาหรือไม่ จนกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หรือจุดเปลี่ยนของประเทศไทยหรือไม่ พรุ่งนี้คงได้รู้กัน

"หากผืนแผ่นดินที่เราอยู่ คือ ความร่มเย็น แล้วใยต้องแก่งแย่งกันเอง"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook