พ.ร.บ.การกีฬาอาชีพเสร็จทันประชุมสภาสมัยนี้แน่

พ.ร.บ.การกีฬาอาชีพเสร็จทันประชุมสภาสมัยนี้แน่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายพีระ ฟองดาวิรัตน์ รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ ได้เป็นประธานประชุมองค์กรเครือข่ายกีฬาอาชีพ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ห้องประชุม 300 เตียง ภายใน กกท. หัวหมาก เพื่อชี้แจงการให้การสนับสนุนเงินประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งนายพีระ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า กกท. ได้จัดงบประมาณ เพื่อใช้ในการพัฒนากีฬาอาชีพ 241,800,000 บาท แบ่งเป็น 1.การจัดแข่งขันกีฬาอาชีพ 2.พัฒนานักกีฬาอาชีพ 3.พัฒนาบุคลากรกีฬาอาชีพ 4.อุดหนุนองค์กรเครือข่ายกีฬาอาชีพ 5.กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ

ส่วนงบประมาณที่ กกท. ได้จัดสรรให้กับสมาคมกีฬาอาชีพ 12 ชนิด ประจำปีงบประมาณ 2553 นั้น ประกอบไปด้วย 1. ฟุตบอล 110,285,680 (ไม่รวมงบสนับสนุน ฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ที่ได้รับอนุมัติจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 100,000,000 บาท), 2.วอลเลย์บอล 13,665,120 บาท, 3. ตะกร้อ 20,604,760 บาท 4.กอล์ฟอาชีพ 40,965,200 บาท 5.บิลเลียด 10,997,220 บาท 6.เทนนิส 15,265,240 บาท 7.แบดมินตัน 4,600,000 บาท, 8.โบว์ลิ่ง 5,500,000 บาท 9.เทเบิลเทนนิส 4,100,000 บาท 10.รถจักรยานยนต์ 7,200,000 บาท 11.ราชยานยนต์ 3,600,000 บาท 12.มวยอาชีพ 3,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 239,783,220 บาท โดยหากสมาคมใดต้องการงบประมาณเพิ่มเติม ก็สามารถเสนอแผนมาได้ เพราะกองทุนกีฬาอาชีพยังมีงบประมาณเหลือประมาณ 10,000,000 บาท

สำหรับแนวทางการประเมินผลงานของกีฬาอาชีพ 12 ชนิดนั้น ได้มีการว่าจ้างบริษัท บีเอสคิวเอ็ม เพื่อจัดทำตัวชี้วัดและประเมินผลการพัฒนากีฬาอาชีพ 2 หัวข้อหลัก คือ 1.ตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินผลการพัฒนากีฬาอาชีพ (โดยฟุตบอลจะประเมินตาม 10 หลักเกณฑ์ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี) 2.ตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินผล 6 ระบบ คือ บริหารจัดการ, การจัดแข่งขัน, ฐานข้อมูล, การเงินและสิทธิประโยชน์, ประชาสัมพันธ์และสร้างแฟนคลับ, สวัสดิการนักกีฬาและบุคลากร

นายพีระ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากนี้ไปอีก 3 ปี กกท. จะทำการประเมินผลงานของกีฬาอาชีพ 12 ชนิด หากกีฬาชนิดใดไม่สามารถผลักดันให้ก้าวไปเป็นกีฬาอาชีพ อย่างยั่งยืนได้ ก็จะต้องถูกตัดออกไป และให้ไปอยู่ในส่วนของกีฬาเพื่อความเป็นเลิศแทน ส่วนความความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพนั้น ขณะนี้กำลังหารือกับกฤษฎีกาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1.โอนกองทุนกีฬาอาชีพที่มีอยู่ มาเป็นกองทุนตาม พ.ร.บ. 2.เพิ่มข้อกฎหมายให้ กกท.สามารถตั้งบริษัทนิติบุคคล อาจจะเป็นบริษัทมหาชน หรือ บริษัทจำกัด เพื่อมาทำธุรกิจและการลงทุนด้านการกีฬา ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ให้เห็นชอบ จากนั้น นายชุมพล ศิลปอาชา รมว. การท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้อนุมัติต่อไป

เรื่อง พ.ร.บ.การกีฬาอาชีพ ผมว่าคืบหน้าไปมาก คิดว่าจะเสนอได้ทันในการประชุมสภาสมัยนี้ ยิ่งฟุตบอลอาชีพของไทยกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก จึงต้องรีบมีกฎหมายออกมาควบคุมผู้กระทำผิด อย่างเช่น การรับสินบน การทุจริต หรือการล้มบอล จะมีโทษหนักถึงขั้นจำคุก 10 ปีเลยทีเดียว นายพีระ กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook