ศึกกลุ่มทุนชิงผู้นำ

ศึกกลุ่มทุนชิงผู้นำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เป็นการแข่งที่ค่อนข้างรุนแรง เหลือเกินสำหรับศึกชิงตำแหน่งผู้นำฝ่ายเอกชนอย่างประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คนใหม่แทน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ที่จะหมดวาระเดือน มี.ค. 53 ดูแล้วไม่ต่างจากนวนิยายน้ำเน่าของจีนประเภทศึกสายเลือดที่แย่งมรดกกันจนได้รับความนิยมจากแฟนละครชาวไทย

ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมต้องแย่งกันขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนก็ไม่ได้ สิทธิพิเศษเหมือนกับนักการเมืองก็ไม่มี แถมยังต้องควักกระเป๋าตัวเองอีกต่างหาก

คำตอบคือเกียรติยศของค่ายธุรกิจที่ส่งเข้าประกวด ที่จะเป็นแกนนำของภาคเอกชนในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐ กิจ รวมถึงเข้าไปเป็นกรรมการคณะกรรม การชุดต่าง ๆ ขององค์กรรัฐ

สำหรับการแข่งขันแย่งชิงประธานสอท. ครั้งนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสอท. แม้เครือเอสซีจีประกาศถอนตัวสนับสนุน ก็ยังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มตัวแหพัฒน์ เครือ ปตท. รวมถึงเอสเอ็มอีต่างจังหวัดทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้

กลุ่มที่ 2 นำโดย นายสุรพร สิมะกุลธร ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จับมือกับ นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน สอท. แห่งค่ายฮอนด้า แถมยังมีกลุ่มสหฟาร์ม และอดีตนักการเมืองชั้นเซียนอย่าง พินิจ จารุสมบัติ คอยเป็นพี่เลี้ยง

ต้องยอมรับว่ากลุ่มไฟฟ้าฯ เคยอกหักครั้งใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน เพราะสนับ สนุน นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่พลาดท่าพ่าย นายสันติ ไปอย่างฉิวเฉียดท่ามกลางกระแสข่าวว่าต่างฝ่ายต่างวิ่งหาผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงเป็นภารกิจที่ต้องทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับมาอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ให้ได้

เรื่องกลับเข้มข้นเมื่อประธาน สอท. คนปัจจุบันที่สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีดูแลไม่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมใช้อำนาจบีบผู้ประกอบการสนับสนุนอีกฝ่าย เพราะไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงเอกชน

ส่วนอีกฝ่ายก็ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม ช่วยตรวจสอบการคัดเลือกประธาน สอท.คนใหม่ เพราะนายสันติ วางตัวไม่เป็นกลาง พร้อมทั้งให้คนกลางที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบในการคัดเลือกประธานใหม่ด้วย

ฟันธงว่าปัญหาการแข่งขันเกือบทุกภาคส่วนในสังคมไทยเวลานี้เริ่มขัดแย้งสูงไม่ต่างจากการเมืองไทยที่ทะเลาะกันไม่กี่คน แต่ลากประชาชนกว่า 60 ล้านคนให้เดือดร้อนตามไปด้วย ดังนั้นยิ่งองค์กรเอกชนดันมาทะเลาะกันเองอีก คงจะเป็นแรงซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้จมหายลงก้นเหว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook