ไฟเขียวระบายข้าว3.75แสนตัน

ไฟเขียวระบายข้าว3.75แสนตัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สั่งพาณิชย์เสร็จก่อนเดือนเม.ย. เท8,900ล.ประกันรายได้นาปรัง

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจำนวน 3.75 แสนล้านตันให้แล้วเสร็จก่อนที่ข้าวนาปรังในฤดูใหม่กำลังจะออกในเดือนเม.ย.นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รมว.พาณิชย์ได้สั่งให้ยกเลิกการประมูลเพราะราคาที่เสนอซื้อนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยการระบายครั้งนี้ยังให้ใช้วิธีประมูลขายให้กับผู้เสนอซื้อโดยเจรจาต่อรองให้ได้ราคาที่สูงสุด เพราะถือว่าขณะนี้ราคาข้าวได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากจากภาวการณ์ขาดแคลนและภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาพิจารณาแนวทางขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่เก็บมานานกว่า 5 ปี อีกจำนวนกว่า 9,000 ตัน เพราะหากยิ่งเก็บต่อไปจะทำให้ข้าวยิ่งเสื่อมสภาพลงมากและขายไม่ได้ราคา จึงเร่งรัดให้หาทางระบายออกไปโดยเร็วที่สุดเช่นกัน ส่วนข้าวที่เหลืออีก 5-6 ล้านตัน ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรม การด้านการระบายข้าวชุดเดิมไปพิจารณากำหนดระยะเวลา วิธีการ และจำนวน ให้เหมาะสมตามกลยุทธ์การระบายสินค้าต่อไป เพราะหากเก็บไว้นานก็จะมีผลต่อราคาได้ แต่การระบายข้าวต้องพิจารณาช่วงเวลา และจำนวนที่เหมาะสมเป็นสำคัญเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อราคาในตลาด เพราะไทยมีสต๊อกข้าวประมาณ 20% ของการซื้อขายข้าวในตลาดโลกจำนวนปีละ 30 ล้านตัน โดยการขายข้าวในสต๊อก 5-6 ล้านตันที่เหลือนี้มีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้เสนอซื้อต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการซื้อขายข้าวในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือเอเฟต มาก่อนเท่านั้น ส่วนการระบายในลอตแรก 3.75 แสนตัน ยังมีเงื่อนไขตามเดิม

ส่วนหลักเกณฑ์การคิดค่าเสื่อมราคาข้าวที่มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปคำนวณมาให้ชัดเจนโดยเทียบกับหลักเกณฑ์ของพ่อค้าข้าวนั้นยืนยันว่าเป็นเพียงการนำมาประกอบการตั้งราคาต่อรองในการขายเท่านั้นเช่น ถ้าเก็บไว้นานถึง 5 ปี ราคาข้าวจะเหลือเพียง 40% ของมูลค่าข้าวในขณะนั้น หรือ 1 ปี จะเสื่อมลงประมาณ 5% 2 ปี เสื่อมลง 15% เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเป็นการกดดันให้นำข้าวมาขายในตลาดเอเฟตแต่อย่างใด

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่าที่ประชุมยังกำหนดให้การระบายข้าวยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เดิมที่มีทั้งการขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี, ประมูลขายทั่วไปในราคาสูงสุด, ขายผ่านตลาดเอเฟตและขายให้กับองค์กรสาธารณกุศล แต่ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงแนวทางการทำงานให้มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้น เช่นวิธีการคิดการคำนวณราคาว่าควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมมากที่สุดในการระบายข้าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook