สำนักพิมพ์ออนไลน์ในยุคอีบุ๊กเฟื่อง

สำนักพิมพ์ออนไลน์ในยุคอีบุ๊กเฟื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เดี๋ยวนี้ คนที่เชื่อว่าไม่มีวันที่คอมพิวเตอร์จะแทนที่หนังสือกระดาษ เริ่มอ่อนเสียงลงแล้ว พร้อมข้อสงสัยใหม่ว่า ขณะที่สื่อออนไลน์กำลังแย่งผู้อ่านอยู่นี้ สื่อสิ่งพิมพ์ควรปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอด ทั้งนี้ก็เพราะปัจจุบัน การลงทุนพัฒนาเนื้อหาของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างมีนัย นวัตกรรมเพื่อการอ่านผ่านจอภาพมีความแปลกใหม่ เร้าใจ กระตุ้นให้คนเห็นดีเห็นงามกับเครื่องอ่านอีบุ๊ก (e-book) ว่าจะเป็นอุปกรณ์เปิดโลกการเรียนรู้เสมือนดูดห้องสมุดทั้งโลกมาอยู่บนฝ่ามือ ที่หนังสือเล่มไหนในโลกก็ทำไม่ได้

ในประเทศไทย การตื่นตัวกับเครื่องอ่าน อีบุ๊ก ไม่ถึงขั้นที่ห้างฯไอทีจะแข่งกันเอามาขาย ทั้ง ๆ ที่มีของเลียนแบบจากบางประเทศประกาศให้ล้งเล้งว่าทำเหมือนจนเจ้าของจำไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจซอฟต์แวร์รวมถึงสำนักพิมพ์บางเจ้าก็เริ่มหันเข้ามาสนใจการอ่านแบบอีบุ๊กมากขึ้น

บริษัท โอเพ่น เซิร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ เป็นรายหนึ่งที่พัฒนาระบบเพื่อตอบสนองการอ่านอีบุ๊ก โดยได้เปิดเว็บ www.ilovelibrary.com ให้บริการ ซึ่งจากการสอบถาม นิทัศน์ มณีศิลาสันต์ กรรมการผู้จัดการ ได้คำตอบว่า บริการบนเว็บดังกล่าวมีเป้าหมาย 2 ส่วน คือ 1. เป้าหมายรายได้ ที่ผลประกอบการ 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ก็มีลูกค้าส่วนใหญ่สนใจให้บริษัทเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับอีบุ๊กตามความต้องการ 2. เป้าหมายด้านสมาชิกของเว็บไซต์ ปรากฏว่าบรรลุเป้าหมาย มีผู้เข้าเยี่ยมชมมาก กว่า 10,000 คนต่อวัน และผู้สนใจดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ไปใช้งานมาก กว่า 100,000 ครั้ง ทำให้เห็นว่าการเติบโตด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของปี 2551 สู่ปี 2552 มีการเติบโตของใช้ อีบุ๊ก เป็น 100% ซึ่งเป็นการเติบโตของสมาชิกค่อนข้างสูง

นิทัศน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงการบริการร้านหนังสือออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ไม่เน้นการขาย เน้นให้สมาชิกอ่านฟรีมากกว่า

การขายอีบุ๊กในเมืองไทย บริษัทคาด ว่าน่าจะเห็นผลในปี 2554 ลูกค้าที่ซื้อหนังสือ อีบุ๊ก ผ่านเว็บไซต์ ไอเลิฟไลบรารี ในปีที่ผ่าน มา มีเพียงไม่กี่สิบราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ

ส่วนการวัดการขยายตัวของอีบุ๊กนั้น 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าความนิยมของผู้อ่านจัดว่าพอใจ วัดตามสถิติคนเข้ามาอ่าน สำหรับการเติบโตของบริษัท ก็มุ่งให้การบริการ จะมีอุปสรรคก็อยู่ที่สำนักพิมพ์ที่ให้ความร่วมมือกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ น้อยมาก

นิทัศน์ให้ข้อมูลด้วยว่า ระบบและบริการของบริษัทมิใช่มีเฉพาะในเมืองไทย แต่มีไซต์รีเฟอเรนซ์ (Site Reference) อยู่ในต่างประเทศด้วย เช่น ห้องสมุดประวัติศาสตร์ในประเทศแคนาดา ใช้ซอฟต์แวร์อีบุ๊กของบริษัท ให้บริการแก่ผู้อ่านต่างประเทศ อีกราย คือห้องสมุดประเทศไต้หวัน ซึ่งจะเริ่มให้บริการประมาณเดือนมีนาคม 2553 นี้

บนเว็บไซต์ได้เปิดโครงการร้านหนังสือออนไลน์ ที่ให้สำนักพิมพ์เข้าร่วมผลิตอีบุ๊ก ซึ่งนิทัศน์ ขยายความว่า บริษัทเปิดกว้างกับสำนักพิมพ์ เห็นได้จากคุณ สมบัติที่กำหนดไว้ ไม่เน้นในเรื่องทุน แต่ให้ความสำคัญกับความพร้อมของการตีพิมพ์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ความพร้อมของผู้ประกอบการในการจัดทำหนังสืออีบุ๊กเอง ซึ่งต่างจากของต่างประเทศที่ต้องส่งไฟล์ต้นฉบับให้กับผู้ผลิต โดยผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือไม่สามารถจัดทำได้ด้วยตัวเอง

ในยามที่เครื่องอ่านอีบุ๊กพัฒนาให้มีรุ่นใหม่ ๆ จนเกิดกระแสความสนใจแพร่หลาย จะเสริมให้ธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ของบริษัทเกิดผลดีอย่างไรหรือไม่ ประเด็นนี้ ผู้บริหารไอเลิฟ ไลบรารี กล่าวว่า เครื่องอ่านอีบุ๊กจะเป็นตัวผลักดันการแก้ปัญหา อุปสรรคของความคิดของสำนักพิมพ์แบบเดิม ที่มุ่งขายหนังสือในรูปแบบกระดาษ โดยคาดว่าจะทำให้สำนักพิมพ์ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสือให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ร้านหนังสือออนไลน์ของบริษัทเติบโตได้ และขยายตัวได้ในกลุ่มลูกค้าสำนักพิมพ์ รวมถึงผู้อ่านได้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะการที่บริษัทมีจุดเด่นที่มีระบบการป้องกันลิขสิทธิ์และความปลอดภัยของหนังสือที่สำนักพิมพ์นำมาให้บริการ ผ่านหน้าเว็บไซต์ของบริษัท

ปีนี้บริษัทมีแผนการทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะเรามีจุดเด่นที่มีฐานลูกค้าให้ความนิยมในการอ่านหนังสืออีบุ๊กค่อนข้างมาก คาดว่าถึงกลางปี 2553 นี้ บริษัทจะมีจำนวนสมาชิกในการอ่านหนังสือและให้ความสนใจในตัวหนังสืออีบุ๊ก เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนราย ฐานสมาชิกดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทมีรายได้สามารถพาองค์กรอยู่รอดได้อย่างดี

ยามที่ทิศทางการรับสื่อมุ่งสู่โลกออนไลน์ สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ที่ยังครองใจผู้อ่านในรูปเล่มดั้งเดิมก็ไม่ควรประมาท

คนรุ่นใหม่ที่ถนัดการอ่านหนังสือบนหน้าจอมีเพิ่มทุกวันนะครับ.

วีระพันธ์ โตมีบุญ

VeeraphanT@Gmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook