รายงานพิเศษ: การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เพิ่มอัตรารอดชีวิตผู้ป่วย

รายงานพิเศษ: การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เพิ่มอัตรารอดชีวิตผู้ป่วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกย่องโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการส่งต่อและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและอุบัติเหตุรุนแรง ติดตามรายละเอียดได้จากรายงานนี้ค่ะ ช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ก็กำหนดชะตาของผู้ป่วยได้ว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้หรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ระหว่างการส่งต่อ และทันทีที่ถึงโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จึงให้ความสำคัญกับระบบส่งต่อและสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้ติดตั้งระบบติดตามสัญญาณชีพและจัดการฐานข้อมูลเพื่อสื่อสารแบบ real-time ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของโรงพยาบาลฯ กับรถปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล เป็นการขยายบริการจากภายในโรงพยาบาลไปสู่รถปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตร ทำให้รถปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นเหมือนเตียงของห้องผู้ป่วยหนัก หรือ ไอซียูขนาดย่อม ที่มีอุปกรณ์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด สื่อสารสองทางกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอดเวลา ด้านนายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานส่งต่อ เขต 13 บอกว่า การดำเนินการจะเริ่มตั้งแต่การจัดระบบช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักในกลุ่มโรคหัวใจและอุบัติเหตุรุนแรง โดยมีการประสนส่งข้อมูลก่อนนำส่งและขณะนำส่ง ทำให้สามารถลดเวลาการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเมื่อถึงสถานพยาบาลได้ถึงร้อยละ 80 ทำให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการช่วยหายใจ การแก้ไขภาวะความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นผิดปกติ ลดอัตราการตายของผู้ป่วยอุบัติเหตุอาการหนักจากร้อยละ 33.43 ในปี 2552 มาเป็นร้อยละ 23.53 ในต้นปี 2553 ด้านนายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการส่งต่อในระบบบริการสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่มานานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จึงร่วมกันหาทางแก้ปัญหา โดยในส่วนของ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณ 1 ล้านบาท ให้กับทุกเขตตรวจราชการ เพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อและศูนย์สำรองเตียง ซึ่งบางพื้นที่ประสบความสำเร็จจนสามารถเป็นพื้นที่นำร่องให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ เช่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ก็มีการพัฒนาระบบการส่งต่อและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างมาก จนได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาระบบส่งต่อและสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินแต่ยังมีสถานพยาบาลอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงมีปัญหานี้อยู่ ซึ่งคงต้องเร่งพัฒนากันต่อไป เพราะระยะเวลาในการถึงมือแพทย์ เป็นสิ่งชี้วัดว่าผู้ป่วยจะมีลมหายใจได้ต่อไปหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook