อภิสิทธิ์ปั่นจีดีพีปีนี้โต 4.7%

อภิสิทธิ์ปั่นจีดีพีปีนี้โต 4.7%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังซื้อ-ส่งออกฟื้นท่องเที่ยวโตฟุ้งปลายปีเห็นกำลังผลิตเกิน 70%

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐ มนตรี เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณหรือครม.เศรษฐกิจชุดเล็กว่า มีความเป็นไปได้ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 53 จะ เติบโตได้ในระดับเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน 5 ประเทศที่ระดับ 4.7% ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ไว้ เนื่องจากกำลังซื้อในภาคเกษตรที่จะเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี ที่สำคัญยังคาดว่าภาคเอกชนจะเพิ่มการลงทุนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้เพราะเห็นสัญญาณที่ดีจากการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกินกว่า 70% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กำลังการผลิตกว่า 80%

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ที่ประชุมมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปี 53 ยังเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 3.3-5.3% ซึ่งเป็นอัตรากว้างเพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จะฟื้นตัวต่อนื่องและยั่งยืนหรือไม่ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังมีปัญหาทางการเมืองที่ต้องทำให้นิ่ง พร้อมทั้งต้องแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้ชัดเจนโดยเร็ว ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณต้องให้เป็นไปตามที่กำหนด ไว้โดยเฉพาะโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนในปี 52 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 2.7% ขณะที่ไอเอ็มเอฟได้ปรับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจใน 5 ประเทศอาเซียน ในปี 53 จะเติบโตได้ 4.7% ส่วนเศรษฐกิจ โดยรวมในกลุ่มประเทศจี 3 คือสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น นั้น เชื่อว่ายังฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังมีแรงขับเคลื่อนที่น้อยอยู่จากปัญหาในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ในที่ประชุมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 53 จะเพิ่มเป็น 1.52 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าเก็บได้ 1.35 ล้านล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลลดการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการลงทุนลงประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือ 2% ของจีดีพี เพราะใช้เงินงบประมาณเพื่อการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งได้หารือนอก รอบเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในการกำหนด นโยบายเชิงยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในปี 54 โดยจะวางนโยบายการบริหารประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง จากเดิมที่พิจารณาข้อเสนอของแต่ละกระทรวงเป็นหลัก แต่จากนี้ไปการดำเนินงานของทุกกระทรวงต้องสอดคล้องกันภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน ซึ่งสศช. จะไปหารือร่วมกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรเงินงบประมาณของแต่ละกระทรวง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook