ไทยเตรียมเคลื่อน เมดิคัลฮับอีกหนึ่งวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่

ไทยเตรียมเคลื่อน เมดิคัลฮับอีกหนึ่งวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ภายหลังได้รับมอบภารกิจในการปฎิบัติหน้าที่สวมหมวกใบใหม่ จากผู้ดูแลและวางยุทธศาสตร์พัฒนาด้านการศึกษาไปเป็นผู้ดูแลและวางยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แผนภารกิจยกแรกที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ได้มอบให้กับข้าราชการกระทรวง คือนโยบายที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ 10 เรื่อง ได้แก่ 1. การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ โดยจะมีโครงการต่างๆ ตามมาในภายหลัง 2. การรักษาพยาบาลที่ต้องเน้นคุณภาพทั้งการรักษาและบริการ 3. การควบคุมโรคที่เน้นประสิทธิภาพ 4. การคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้านที่อยู่ภายใต้ภาระงานกระทรวงสาธารณสุข 5. สมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยต้องมีบทบาทชัดเจนและก้าวหน้ามากขึ้น 6. การผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสอดรับงานสาธารณสุขให้เดินหน้า โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) 7. อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต้องเข้ามามีบทบาททำงานเชิงรุกมากขึ้น 8. พัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุข เพื่อให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ 9. นโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย (เมดิคัล ฮับ)จะต้องเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม และ 10. การออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อเข้ามาสนับสนุนงานสาธารณสุข เช่น ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข และร่าง พ.ร.บ.กองทุนชดเชยผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ สำนักข่าวแห่งชาติขอหยิบยก 1 ใน 10 นโยบายพิเศษ ที่นายจุรินทร์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นั่นก็คือ การประกาศเดินหน้านโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพแห่งเอเชีย (เมดิคัล ฮับ) ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวิสัยทัศน์ที่เจ้ากระทรวงหมอคนใหม่นี้ มองการณ์ไกลถึงความสำคัญในด้านสุขภาพ เพราะ อีก 20 ปีข้างหน้าสังคมโลกจะมีแต่ ผู้สูงอายุ (aging society) สัญญาณบอกเหตุให้รู้ว่าธุรกิจ โรงพยาบาล-ป้องกันรักษาดูแลสุขภาพ ต้องเตรียมรับสถานการณ์ตั้งแต่ตอนนี้ ต้องเริ่มวางยุทธศาสตร์คู่ขนานในลักษณะ รัฐสร้างคน-เอกชนสร้างตลาด ภายใต้การจัดการอย่างยั่งยืน ส่งผลไปถึงความมั่นคงยั่งยืนของเศรษฐกิจที่จะก้าวไปสู่สังคมคนในชาติกินดีอยู่ดี (The wellness society ) จากสถิติย้อนหลังหลายปีที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มความต้องการอนาคตกอปรกับสถิติรายได้และกำไรของโรงพยาบาลที่ได้จากค่ารักษาพยาบาลเมืองไทยมูลค่าตลาดรวมปี 2550 ตั้งเป้าได้ 41,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวหรือคนไข้ต่างประเทศล้วนๆ 1.54 ล้านคน ดังนั้นเหตุผลนี้ คงเป็นแรงผลักดันประเทศขึ้นเป็น medical hub ตามแผนยุทธศาสตร์ที่เคยวางไว้ภายในปี 2555 ไทยควรก้าวสู่จุดหมายได้ไม่ยาก และจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ระบุชัดเจนว่า โรงพยาบาลเมืองไทยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มนับได้ช่วงปี 2544 เข้ามาใช้บริการ 8 ประเทศ จนถึงปัจจุบันนี้มีไม่ต่ำกว่า 13 ประเทศ 3 อันดับแรกเป็นญี่ปุ่น 2-3 แสนคน/ปี สหรัฐอเมริกา 1-1.5 แสนคน/ปี และเอเชียใต้ 1-1.2 แสนคน/ปี ผลที่ตามมา ณ ตอนนี้โรงพยาบาลแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย 13 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นเนล โรงพยาบาลปิยะเวท และโรงพยาบาลสมิติเวช มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ 100-7,000 ล้านบาท/ปี/โรงพยาบาล ทำกำไรสุทธิอย่างต่ำ 10% ของรายได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวต่างชาติที่รักษาในโรงพยาบาลเมดิคัล ฮับ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย 2. ชาวต่างชาติที่อยู่รอบประเทศไทย และ 3. ชาวต่างชาติที่อยู่ประเทศไกลๆ และเดินทางมาเพื่อทำการรักษาโดยเฉพาะ ไม่รวมกลุ่มที่เข้ามาตรวจสุขภาพ ดังนั้นรายได้การรักษาจึงไม่ได้มาจากการตรวจเช็คสุขภาพที่มีการกล่าวถึง แต่อยู่ที่การบริการรักษาผู้ป่วยหนัก รักษายาก ซึ่งเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจาก ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่ม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังเป็นผลบวกต่อไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศทำธุรกิจทุกอย่าง แต่ธุรกิจโรงพยาบาลของไทย ต้องยอมรับอยู่ในระดับแรกๆ ของโลก ศักยภาพเทียบเท่าสากล ได้มาตรฐาน และที่ผ่านมาสามารถสร้างประโยชน์โดยนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเงินที่เข้ามาเป็นหมื่นล้านไม่ได้ตกอยู่เฉพาะโรงพยาบาลอย่างที่เข้าใจ แต่โรงพยาบาลได้รับรายได้จากการเดินทางเข้ามาของผู้ป่วยกลุ่มนี้เพียงแค่ 10% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากการรักษาและเข้าพัก แต่รายได้อีก 90% จะอยู่นอกโรงพยาบาล ที่เป็นการท่องเที่ยว ร้านค้า ชอปปิ้ง ค่าเดินทาง ของกลุ่มญาติที่ติดตามผู้ป่วยมาด้วย เรียกว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับเอบวก ในทางธุรกิจและการท่องเที่ยว ถือเป็นความสำเร็จเร็วเกินคาด แต่การจัดการโรงพยาบาลและการรักษาสุขภาพอย่างยั่งยืน ในระยะยาวตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้ง 2 ด้าน คือ ปริมาณคนสูงอายุในไทยหรือแต่ละประเทศตามแนวโน้มจะมีมากขึ้นเกิน 60% ของประชากรกับความต้องการบุคลากรที่จะเข้าสู่อาชีพในธุรกิจให้บริการโรงพยาบาล หรือศูนย์สุขภาพต้องเพิ่มตามจำนวนลูกค้าในอีก 20 ปีที่จะเดินไปถึงจุดนั้น นอกจากโรงพยาบาลแล้วขณะนี้มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องทยอยลงทุนกันอย่างคึกคัก เช่น หมู่บ้านพัก ตากอากาศของคนเกษียณชาวต่างชาติ โครงการบ้านพักระยะยาวลองสเตย์เริ่มแล้วเช่นกัน ธุรกิจรับบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไล่ตามมาติดๆ จุดแรกมักเลือกทำเลเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดสมดุลทั้ง 2 ด้าน จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันอุดมศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาประกาศรับภารกิจ ผลิตคน ป้อนเข้าสู่ตลาดสุขภาพ สนับสนุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมสุขภาพและความยั่งยืน ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจุฬาฯเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม) สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพทางด้านการจัดการโรงพยาบาลและการรักษาสุขภาพอย่างยั่งยืน หลักสูตรแกนนำคือ วิศวกรรมชีวเวช ที่สามารถแตกออกเป็นหลักสูตรรอง 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ชีวเวช วิศวกรรมเทคโนโลยี แยกเป็นหลักสูตรย่อยเฉพาะทางอีก 13 สาขา นับเป็นการขับเคลื่อน เมดิคอลทัวริสต์ฮับ เมืองไทยในทุกมิติ ทั้งการสร้างคน สร้างตลาด สนองความต้องการลูกค้าและสังคม เห็นทิศทางและความเป็นไปได้เช่นนี้แล้ว ถึงเวลาหรือยังที่ไทยควรจะเป็นเจ้าภาพริเริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมสุขภาพและความยั่งยืนให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook