ผลร้ายของการทำไม่ต่อเนื่องและหย่อนยาน

ผลร้ายของการทำไม่ต่อเนื่องและหย่อนยาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เกี่ยวกับปัญหาการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยบนท้องถนนในบ้านเราว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการอื่นๆทางกฏหมายที่ไมเข้มงวดและไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ขับขี่ไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด หรือถ้าถูกจับก็ไม่เป็นไร คุยกันได้ ยิ่งเป็นนักการเมืองไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จนเศรษฐีเงินถัง ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ยิ่งสบายใหญ่ ค่าปรับแค่จิ๊บจ๊อย หรือไม่ก็เกรงอกเกรงใจ อะลุ้มอล่วย หยวนๆกันไป จะเข้มงวดหน่อย มักจะเกิดกับพวกชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำเท่านั้น ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับประเด็นที่ว่านี้ อีกหลายๆท่านก็คงเห็นด้วยกับผม อีกภาพหนึ่งที่เห็นจนชินตาคือ การตั้งด่านตรวจของตำรวจตามถนนสายต่างๆ ไม่เข้าใจว่าทำไม พวกรถปิ๊กอัพ รถแท๊กซี่ มอเตอร์ไซด์ จะถูกเรียกตรวจเข้มมากกว่ารถเก๋งคันหรูๆ คนขับรถเก๋งทำผิดไม่เป็นหรือไร คงปฏิเสธกันไม่ได้ว่า มาตรการหลายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจราจร มักจะได้รับการปฏิบัติไม่ต่อเนื่องแบบไฟไหม้ฟาง ตอนออกมาตรการใหม่ๆแรกๆ ก็ดูคึกคักเข้มงวดดี มีการออกข่าว การจับปรับเป็นระยะ จากนั้นก็เงียบหายไป อย่างมาตรการจับปรับคนข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลาย เห็นคึกคักอยู่ไม่กี่อาทิตย์ ตั้งด่านเข้มงวดเป็นพักๆไม่ต่อเนื่อง แล้วมันก็ไม่ได้ผล ยังเห็นมีคนเดินข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลายตามปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น มาตรการสวมหมวกกันน๊อกก็เข่นกัน ขี่มอเตอร์ไซด์ซ้อนสาม แถมไม่สวมหมวกกันน๊อก ก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น พูดถึงการบังคับใช้มาตรการทางกฏหมายกับประชาชนในบางประเทศ ยกตัวอย่างมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดนั้น เขาจะรณรงค์ทางสื่อต่างๆเสียก่อน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่า ทางการจะนำกฏหมายที่ออกใหม่มาใช้แล้วนะ ขณะเดียวกันก็ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นผลดีกับตัวประชาชนและสังคมอย่างไร จะชี้ตัวเลขสถิติแสดงผลดีผลเสียอย่างชัดเจนระหว่างการไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติตามกฎหมายให้เห็นด้วยหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ก่อนบังคับใช้กฏหมายดังกล่าว นอกจากจะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลที่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการป้องกันการอ้างว่าไม่รู้กฎหมายของประชาชนด้วย เมื่อประชาชนรู้เหตุผลและเข้าใจข้อกฏหมาย รวมทั้งบทลงโทษเมื่อทำผิด ประชาชนก็ย่อมที่จะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเต็มใจ ไม่ใช่ตั้งสมมุติฐานเอาว่า พลเมืองทุกคนต้องรู้กฏหมาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง ถามว่าจะมีคนไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้กฎหมายทุกเรื่อง ถ้าไม่ใช่นักกฎหมายที่ทำมาหากินกับกฏหมายโดยตรง ต่อให้เป็นข้าราชการระดับใหญ่ด้วยซ้ำ ถ้ารู้ก็อาจเพียงบางเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ใช่ทั้งหมดแน่ มิพักต้องไปนับถึงตาสีตาสา ยายมาตามี ตามหมู่บ้าน หรือคนทั่วๆไปหรอก ยังจำได้จนถึงวันนี้ ช่วงที่ผมไปทำงานอยู่ที่นั่นเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน รัฐบาลมาเลเซียจะนำกฏหมายมาใช้บังคับให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ต้องสวมหมวกกันน๊อกครั้งแรก รู้ไหมครับ ไม่ใช่อยู่ๆเขาจะประกาศใช้กฏหมายเลย แต่ก่อนจะใช้กฏหมาย ประมาณ 3 เดือน เขาได้โหมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อทุกรูปแบบอย่างเป็นระบบ ทั้งทางโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อพื้นบ้าน และสื่อบุคคล แสดงตัวเลขสถิติความปลอดภัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างผู้ไม่สวมหมวกกับผู้ที่สวมหมวก รวมทั้งบอกถึงบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนกฏหมาย อีกเรื่องหนึ่งคือช่วงที่มีโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก ก่อนออกมาตรการป้องกันด้วยการบังคับให้ทุกหลังคาเรือนให้ความร่วมมือกำจัดตัวลูกน้ำ ก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเสียก่อนว่า สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร ร้ายแรงอย่างไร และขอร้องให้ทุกครัวเรือนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำ หากครอบครัวใดไม่ร่วมมือและตรวจพบว่ามีตัวลูกน้ำในบ้าน ถ้าจำไม่ผิดเจ้าของบ้านจะต้องถูกปรับตัวละ 10 ริงกิตหรือประมาณกว่า 100 บาทไทย นี่คือความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเขา กฏหมายเกี่ยวกับการจำกัดความเร็วของรถเช่นกัน ใครที่เคยขับรถหรือเดินทางไปตามท้องถนนในมาเลเซีย จะสังเกตเห็นว่า ข้างหน้ารถบรรทุกขนาดใหญ่ อย่างรถเทลเลอร์ หรือรถที่บรรทุกของหนัก จะเห็นรถปิ๊กอัพคันหนึ่งติดไฟสัญญาณสีแดงบนหลังคา วิ่งนำหน้าช้าๆด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยรักษาสภาพถนนไม่ให้ชำรุดเร็วขึ้นอีกด้วย ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้เจตนาจะตำหนิผู้ใดหรือชื่นชมใคร เพียงแต่อยากจะแสดงความเห็นด้วยกับคุณหมอแท้จริงเท่านั้นว่า การบังคับใช้กฏหมายของบ้านเมืองนั้นไม่ว่าในเรื่องใด หากปฏิบัติไม่ต่อเนื่องและเข้มงวด หรือทำอย่างขอไปทีแบบไฟไหม้ฟางเสียแล้ว ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่รู้กฎหมายและบทลงโทษหรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเจตนาของกฏหมาย ความเคารพ หรือความเกรงกลัวต่อกฏหมาย และความร่วมมือที่จะทำตามกฏหมายก็จะไม่เกิด การแก้ไขปัญหาอย่างการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยในเทศกาลต่างๆ ก็จะยังต้องทำซ้ำๆให้เห็นกันอย่างนี้เรื่อยไป อ้อ...ผู้ที่เกี่ยวข้อง หากจะนำตัวอย่างจากมาเลเซียที่ที่ผมหยิบยกมาเล่าให้อ่าน ไปใช้บ้างก็น่าจะดีนะ เรียงเรียงโดยนายวินัยวิธ หาญชำนิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook