เกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน? ทำไมการตายของหญิงคนหนึ่งนำไปสู่การประท้วงทั้งประเทศ

เกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน? ทำไมการตายของหญิงคนหนึ่งนำไปสู่การประท้วงทั้งประเทศ

เกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน? ทำไมการตายของหญิงคนหนึ่งนำไปสู่การประท้วงทั้งประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเสียชีวิตของหญิงวัย 22 ปีคนหนึ่ง ขณะถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุมขัง กลายเป็นการประท้วงใหญ่ไปทั่วประเทศอิหร่าน ที่ขณะนี้เลยไปกว่าการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงแค่กฎการบังคับผู้หญิงสวมผ้าโพกศีรษะไปแล้ว

นางสาวมาห์ซา อะมินี เดินทางออกจากเมืองซักเกซ บ้านเกิดใน จ.เคอร์ดิสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เพื่อมาเที่ยวยังกรุงเตหะราน

หลังจากเดินออกจากสถานีรถไฟใต้ดินที่ใจกลางเมืองหลวงเมื่อบ่ายวันที่ 13 ก.ย. กลับถูกอุ้มขึ้นไปยังรถตู้ของตำรวจศาสนา ที่คอยตรวจตราการแต่งกายของผู้หญิง ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐอิสลามเมื่อปี 2522 ก่อนนำไปคุมขังที่ศูนย์กักกันแห่งหนึ่ง

แทนที่จะอบรมการสวมฮิญาบให้ถูกต้อง นางสาวอะมินีกลับเสียชีวิตอย่างปริศนา จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวอิหร่านจำนวนมาก

เหตุนี้ทำให้ตำรวจแก้เกี้ยวด้วยการปล่อยคลิปที่อ้างว่าได้มาจากกล้องวงจรปิด ที่เห็นว่าหญิงรายนี้ล้มลงไปหลังเก้าอี้ตัวหนึ่งแล้วลงไปนอนกับพื้น ก่อนถูกพาไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่สุดท้าย ก็เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ (16 ก.ย.)

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมีคำอธิบายที่ชัดเจนเลยว่าหญิงคนนี้ตายได้อย่างไรออกมา ประชาชนจำนวนมากจึงรวมตัวประท้วงทั้งในกรุงเตหะราน และที่งานศพของนางสาวอะมินี ที่เมืองซักเกซ บ้านเกิด ซึ่งที่นี่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยกำลังและแก๊สน้ำตา

สู้เพื่อเธอ: ประชาชนรวมตัวประท้วงในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565หลังการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนางสาวมาห์ซา อะมินี วัย 22 ปีAFPสู้เพื่อเธอ: ประชาชนรวมตัวประท้วงในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565หลังการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนางสาวมาห์ซา อะมินี วัย 22 ปีสลาย: ตำรวจใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้นางสาวมาห์ซา อะมินี ที่เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจศาสนาคุมขังShwan MOHAMMED / AFPสลาย: ตำรวจใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้นางสาวมาห์ซา อะมินี ที่เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจศาสนาคุมขัง

ด้านเว็บไซต์ อิหร่าน อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เมื่อวันอังคาร (20 ก.ย.) เกิดการประท้วงน้อยใหญ่ไปทั่วประเทศแล้ว ทั้งเมืองมัชฮาด ซึ่งเป็นเมืองที่โดดเด่นด้านศาสนา, เมืองตาบรีซ, เมืองรัชต์, เมืองกอม, เมืองอิลาม, เมืองฮาเมดาน, เมืองเคอร์มันชาห์,  เมืองซันจาน, เมืองบันดาร์ อับบาส ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมอ่าวเปอร์เซีย, เมืองชิราซ และเมืองกัซวิน

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งว่าภาครัฐของอิหร่านนั้นไม่ได้เอาใจใส่ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนนัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และที่ผ่านมาการเข้าไปแทรกแซงและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและการพยายามบิดเบือนความจริงของภาครัฐอิหร่าน ก็ยิ่งทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจไปอีก

แม้ว่านายเอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน จะสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดูแลการสอบสวนการเสียชีวิตของนางสาวอะมินีอย่างดี แต่สิ่งนี้อาจเรียกความเชื่อมั่นไม่ได้นัก เพราะรัฐบาลของนายไรซีนี่เองที่เป็นผู้ออกคำสั่งให้ตำรวจศาสนาตรวจตราการแต่งกายของผู้หญิงให้เข้มงวดขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

การประท้วงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดงความเห็นอกเห็นใจและการอาลัยต่อหญิงอายุน้อยรายนี้ แต่ยังสะท้อนถึงความท้อแท้ในใจชาวอิร่านจำนวนมากต่อภาครัฐและระบบต่างๆ ของประเทศที่ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ โดยที่มีคนชั้นนำเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสใช้ชีวิตตามที่ต้องการ

นายรอเบิร์ต มอลลีย์ ผู้แทนพิเศษของสหรัฐประจำอิหร่าน โพสต์ผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ (16 ก.ย.) เรียกร้องให้อิหร่าน "หยุดใช้ความรุนแรงที่ไม่สมควรต่อผู้หญิงที่ออกมาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง" และเห็นว่าคนที่มีส่วนทำให้นางสาวอะมินีเสียชีวิตต้องรับผิดชอบ

ด้านนายนัสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ก็ตอบโต้ว่า จะไม่ยอมรับข้อความในเชิงแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านใดๆ จากสหรัฐ และกล่าวว่า

"ถ้ารัฐบาลสหรัฐเป็นห่วงอิหร่านจริงๆ สหรัฐก็ควรยกเลิกการกีดกันที่โหดร้าย ทำขึ้นฝ่ายเดียว และผิดกฎหมาย ต่ออิหร่านเสียที"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook