สธ.แจงแยกรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด เพราะมีมาตรการลดจำนวนที่แตกต่างกัน

สธ.แจงแยกรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด เพราะมีมาตรการลดจำนวนที่แตกต่างกัน

สธ.แจงแยกรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด เพราะมีมาตรการลดจำนวนที่แตกต่างกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข แจงสาเหตุการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงกับผู้เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบโควิด เพราะมีมาตรการที่จะลดการตายจากการดูแลรักษาที่ต่างกัน จะช่วยให้วางมาตรการการรักษาในอนาคตได้

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิดที่ลดต่ำลงในช่วงนี้ อาจเป็นเพราะตัวเลขรายงานแยกประเภทจนทำให้ตัวเลขลดต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนี้

"ตัวเลขการตายที่ลดฮวบลงไปนั้น เพราะรายงานออกมาเฉพาะ "การตายจากโควิด" แต่ไม่ได้รายงานจำนวนการตายที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดด้วย ทั้งๆ ที่การติดเชื้อนั้นอาจส่งผลทำให้ร่างกายและโรคที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นแย่ลงได้เช่นกัน

สังคมไทยควรเรียกร้องให้รายงานตัวเลขทั้งสองประเภท พร้อมยอดรวมการตายด้วย มิฉะนั้นจะยิ่งทำให้ภาพที่เห็นไม่ครบถ้วน และส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการระวังป้องกันตัวของประชาชนทั้งประเทศ"

"การแยกจำนวนการเสียชีวิตเป็น 2 กลุ่มคือ

  1. Death from COVID-19
  2. Death with COVID-19

หากแยกกลุ่มได้ชัดเจน ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการวางแผนดูแลรักษา และป้องกัน แต่จำเป็นต้องนำเสนอให้สาธารณชนได้ทราบทั้งสองกลุ่ม เพราะสถานการณ์ระบาดจริงนั้นครอบคลุมคนทั้งสองกลุ่ม

หากเลือกนำเสนอเพียงส่วนเดียว ก็ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เห็นเพียงภาพบางส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อทั้งหมด

ที่สำคัญคือ การไม่ได้รายงานจำนวนการตายที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดด้วย ทั้งๆ ที่การติดเชื้อนั้นอาจส่งผลทำให้ร่างกายและโรคที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นแย่ลงได้เช่นกัน ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

เสนอทั้งสองส่วน พร้อมยอดรวม ก็ยิ่งทำให้ระบบรายงานมีความละเอียดรอบคอบ โปร่งใส และทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ ประเมินสถานการณ์ได้ และนำไปใช้ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ระบาดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

...ไม่ควรรายงานเพียงส่วนเดียว...

นี่คือสิ่งที่ควรทำครับ..."

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การรายงานผู้เสียชีวิตมีการปรับรายงานแยกระหว่างกลุ่มติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบและเสียชีวิต กับกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังและตรวจพบโควิด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีมาตรการที่จะลดการตายจากการดูแลรักษาที่ต่างกัน จะช่วยให้วางมาตรการการรักษาในอนาคตได้

ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก แต่หากไม่ฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสป่วยหนักรุนแรงและทำให้เสียชีวิตสูง โดยการฉีดเข็มกระตุ้นจะลดการเสียชีวิตได้ถึง 31 เท่า ดังนั้น ต้องช่วยกันนำผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งปัจจุบันฉีดได้เพียง 41.5% ขณะที่ความครอบคลุมที่จะช่วยลดการป่วยหนักเป็นวงกว้างได้ คือ 60% ขึ้นไป ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดก่อนเปิดเทอมเช่นกัน

นอกจากนี้ นพ.จักรรัฐ ยังรายงานสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อ 9,331 ราย ลดลงจากหลายสัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 2 หมื่นราย ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนรับการรักษาของ สปสช. ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) และระบบรักษาที่บ้าน (HI) ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดมี 498,578 ราย ลดลงจากเดิม 6-7 แสนราย สะท้อนว่าสถานการณ์ลดลงจริง ส่วนผู้เสียชีวิตมี 84 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

“สถานการณ์การติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิต ยังเป็นไปตามคาดการณ์ ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจะลดลงตามผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยปอดอักเสบหรือไม่ ยังต้องติดตามอีก 2-4 สัปดาห์ ขณะนี้จึงยังคงแจ้งเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มและสถานที่เสี่ยง เพราะบางจังหวัดยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานราว 40 กว่าจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยลดลง และมีแนวโน้มคงตัว ได้ให้จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เพื่อมั่นใจว่าหากมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดง่ายรุนแรงมากขึ้นจะสามารถรับมือได้ โดยต้องมีวัคซีนและแพทย์เพียงพอให้การดูแลรักษาป้องกันได้ตามมาตรฐาน” นพ.จักรรัฐ กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook