ดราม่าลอยอังคารลำน้ำมูล ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำกระดูกผี แฉเบื้องหลังธุรกิจรับทำพิธี

ดราม่าลอยอังคารลำน้ำมูล ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำกระดูกผี แฉเบื้องหลังธุรกิจรับทำพิธี

ดราม่าลอยอังคารลำน้ำมูล ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำกระดูกผี แฉเบื้องหลังธุรกิจรับทำพิธี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดราม่าลอยอังคารลำน้ำมูล ชาวบ้านเผยไม่กล้าใช้น้ำกระดูกผี แฉเอกชนเปิดธุรกิจทำพิธีลอยอังคารมากว่า 15 ปี โดยทำร้านอาหารบังหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อน จากการที่มีผู้นำอัฐิมาประกอบพิธีลอยอังคารลงในลำน้ำมูล บริเวณร้านอาหารสวนแสงเพชร ต.ท่าช้าง โดยมีการประกอบพิธีลอยอังคารที่บริเวณนี้มาเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปีแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำ 7 หมู่บ้าน ในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหานี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งให้มีการดำเนินการห้ามลอยอังคารในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเข้มงวดนั้น

ล่าสุด วันนี้ (23 มี.ค.65) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจ ที่สวนอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.11 ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ติดกับลำน้ำมูลที่ไหลมาจากเขื่อนมูลบน อ.ครบุรี พบว่าภายในสวนอาหารได้มีการขึ้นป้าย “รับทำพิธีลอยอังคาร” ติดไว้ตลอดเส้นทางเข้า ซึ่งด้านในสวนได้มีจุดตั้งแพลงเรือเพื่อไปประกอบพิธีลอยอังคาร ในลักษณะทำธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีผู้ที่ใช้ชื่อว่า อาจารย์หนุ่ม เป็นผู้ประกอบพิธีให้กับผู้ที่ต้องการมาลอยอังคาร นอกจากนี้ยังมีการโพสต์รูปภาพ และคลิปวิดีโอ ที่นำผู้ร่วมพิธีลงเรือไปลอยอังคารที่ลำน้ำมูลเป็นจำนวนมาก

สอบถามนางสมัย อายุ 57 ปี ชาวบ้านหนองบัว หมู่ที่ 11 ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ บอกว่า ในอดีตนั้นตาแสง ซึ่งเป็นพ่อของอาจารย์หนุ่ม ได้มีการประกอบพิธีลอยอังคารมานานกว่า 15 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อตาแสงอายุมากขึ้น ลูกชายก็รับช่วงต่อ โดยตั้งตนเป็นเจ้าสำนักที่เปิดธุรกิจเป็นร้านอาหารพานักท่องเที่ยวล่องแพชมธรรมชาติบังหน้า แต่แท้จริงแล้วมีรายได้จากการทำพิธีลอยอังคารเป็นหลัก ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายรวมค่าอาหารด้วยตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นการประกอบพิธีลอยอังคารในที่ส่วนบุคคล แต่ที่ดังกล่าวซึ่งอดีตเมื่อ 30 กว่าปี เคยเป็นพื้นที่ดูดทรายของตาแสง จนกลายเป็นเวิ้งน้ำเชื่อมต่อกับลำน้ำมูลในปัจจุบัน ทางสวนอาหารจึงถือว่าที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล มีการนำป้ายแจ้งไม่ให้ชาวบ้านที่หาปลาบุกรุกเข้าไป ก่อนที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวล่องแพชมธรรมชาติ และประกอบพิธีลอยอังคาร เป็นธุรกิจใหญ่โตในปัจจุบัน แม้ว่าชาวบ้านในพื้นที่จะร้องเรียนความเดือดร้อนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ยังคงมีการประกอบพิธีลอยอังคารอยู่อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่หมู่บ้านสามแคว หมู่ 4 ต.ท่าช้าง ซึ่งสูบน้ำจากลำน้ำมูลใกล้จุดลอยอังคาร มาทำน้ำประปาหมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการลอยอังคารเป็นอย่างมาก โดยนางเยาวมาลย์ อายุ 46 ปี ชาวบ้านนาสามแคว กล่าวว่า น้ำประปาที่ใช้อยู่นี้ ส่งมาจากประปาหมู่บ้าน และประปาของ อบต. ซึ่งตนเองไม่กล้าใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภค หุงข้าว หรือประกอบอาหาร เพราะว่าเป็นน้ำที่มาจากลำน้ำมูลใกล้เคียง ที่มีการลอยอังคาร หรือกระดูกผี ทำให้รู้สึกขยะแขยงถ้าจะนำมาประกอบอาหารรับประทาน จึงใช้เพียงอาบน้ำ ซักผ้าเท่านั้น ส่วนน้ำที่ใช้หุงข้าว ประกอบอาหาร ก็จะใช้น้ำฝนแทน ซึ่งประเพณีการลอยอังคารนี้ ชาวบ้านแถวนี้ไม่ทำกัน ส่วนใหญ่จะนำอัฐิผู้เสียชีวิตไปฝากไว้ในเจดีย์ตามวัดต่างๆ แต่คนที่มาลอยอังคารส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างถิ่น ที่รู้ข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของสวนอาหารดังกล่าว เรื่องนี้ชาวบ้านก็ได้ไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยเห็นแก้ไขปัญหาได้สักครั้ง จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกท้อแล้ว

ด้านนายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการอ้างว่า จุดลอยอังคารนั้นเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งในอดีตเคยเป็นท่าทรายอยู่ติดลำน้ำมูล แต่สภาพในปัจจุบันถูกดูดทรายจนไม่เหลือพื้นดินเป็นหลักเขตแล้ว จึงต้องไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินว่ายังอ้างสิทธิ์เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลได้หรือไม่ ตอนนี้ก็ทำได้เพียงการนำป้ายไปติดตั้งประกาศห้ามลอยอังคารลงลำน้ำมูลเท่านั้น ซึ่งทางอำเภอได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่เดือน ก.พ.64 และมีการนำป้ายห้ามลอยอังคารไปติดตั้งไว้ทั่วบริเวณริมลำน้ำมูล แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการลอยอังคารอยู่ ซึ่งทางอำเภอและหน่วยงานอื่นๆ ก็รู้ว่าใครเป็นผู้ทำพิธีลอยอังคาร แต่ยังไม่มีประจักษ์พยานที่จะเอาผิดทางกฎหมายได้

ตอนนี้ตนเองก็พยายามทุกวิถีทางที่จะรวบรวมพยานและหลักฐาน เพื่อที่จะดำเนินคดีผู้ประกอบการลอยอังคารให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นทางนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สอบถามไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาแล้ว และได้รับการแนะนำว่าแม้จะลอยอัฐิในที่ส่วนบุคคล ก็สามารถนำข้อกฎหมายด้านสาธารณสุขมาดำเนินคดีได้ โดยให้เทศบาลตำบลท่าช้าง ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเถ้ากระดูกผู้ตายมาทิ้งในลำน้ำมูล ตามมาตรา 27 (เหตุรำคาญเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ) มาตรา 28 (เหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่เอกชน) อันมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทางอำเภอก็ได้ประสานให้ทางเทศบาลตำบลท่าช้างดำเนินการแล้วขณะนี้

 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ดราม่าลอยอังคารลำน้ำมูล ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำกระดูกผี แฉเบื้องหลังธุรกิจรับทำพิธี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook