"เครดิตสวิส" ลั่นไม่ผิด! แม้ถูกแฉผ่าน #SuisseSecrets พัวพันลูกค้าต้องสงสัย

"เครดิตสวิส" ลั่นไม่ผิด! แม้ถูกแฉผ่าน #SuisseSecrets พัวพันลูกค้าต้องสงสัย

"เครดิตสวิส" ลั่นไม่ผิด! แม้ถูกแฉผ่าน #SuisseSecrets พัวพันลูกค้าต้องสงสัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เครดิตสวิส" ปฏิเสธการทำผิดกฎหมายใดๆ หลังจากข้อมูลลูกค้ารั่วไหลครั้งใหญ่ จนนำไปสู่การแฉผ่าน #SuisseSecrets ว่ามีหลายบัญชีที่เข้าข่ายพัวพันกับการก่ออาชญากรรม

เมื่อคืนนี้ (20 ก.พ.) ธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกมาปฏิเสธความผิดทุกข้อกล่าวหา หลังจากสื่อมวลชนหลายสิบแห่งเผยแพร่ผลการสืบสวนที่ดำเนินการร่วมกันในลักษณะเดียวกับเอกสารปานามา เปเปอร์ส เกี่ยวกับกรณีข้อมูลบัญชีลูกค้ากว่า 18,000 รายในระบบของเครดิตสวิสตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมารั่วไหล

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า ผู้แจ้งข้อมูลรายหนึ่งได้เปิดโปงเรื่องบัญชีลูกค้าเครดิตสวิสรั่วไหลตั้งแต่ช่วงปี 2483–2553 ให้กับหนังสือพิมพ์ซูดดอยท์เชอ ไซตุง (Sueddeutsche Zeitung) ซึ่งต่อมาได้แบ่งปันข้อมูลดังกล่าวให้กับโครงการรายงานขบวนการอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP) และองค์กรสื่ออื่นๆ อีก 46 แห่ง รวมถึงเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ของสหรัฐ, เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ และเลอมงด์ ของฝรั่งเศส

ผลการสืบสวนของสื่อมวลชน ระบุว่า กลุ่มลูกค้าของเครดิตสวิสนั้นมีทั้งผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและนักธุรกิจที่ถูกคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้เผยให้เห็นถึงความมั่งคั่งแต่แฝงไปด้วยความลับซ่อนเร้นของลูกค้าบางราย ที่อาจมีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การทุจริต และอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ โดยในกลุ่มนี้มีนักธุรกิจ และนักการเมืองไทยด้วย

รายละเอียดของบัญชีที่รั่วไหล เชื่อมโยงกับลูกค้าของเครดิตสวิส 30,000 รายทั่วโลก ซึ่งเปิดโปงผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 8 หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท ที่ถืออยู่กับสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงอันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์

ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของธนาคารแห่งนี้ในการตรวจสอบสถานะลูกค้า แม้ให้คำมั่นมาตลอดหลายทศวรรษว่าจะกำจัดลูกค้าน่าสงสัยและกองทุนที่ผิดกฎหมายก็ตาม

ในรายงานที่เปิดเผยออกมานั้น ระบุประเทศที่มีลูกค้าเปิดบัญชีมากที่สุด เช่น เวเนซุเอลากว่า 2,000 บัญชี อียิปต์กว่า 2,000 บัญชี ยูเครนกว่า 1,000 บัญชี และไทยกว่า 1,000 บัญชี ซึ่งต่างก็เป็นประเทศที่ประสบปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่มีกลุ่มบุคคลพยายามซุกซ่อนเงิน และทรัพย์สินของตนเองไว้ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยนั้น พบนักธุรกิจชั้นนำ นักการเมือง และอดีตข้าราชการ ที่ต่างเคยถูกตั้งคำถามเรื่องการโยกย้ายเพื่อซุกซ่อนทรัพย์สิน หวังหลีกเลี่ยงภาษี อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่บัญชีทั้งหมดในธนาคารเครดิตสวิส จะเป็นของอาชญากรหรือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย

หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชน เครดิตสวิส เผยแพร่แถลงการณ์เพื่อตอบโต้ทันที “เครดิตสวิสขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาและการกล่าวเป็นนัยเกี่ยวกับแนวทางธุรกิจของธนาคาร กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องในอดีต และคำบอกเล่าเหล่านี้ก็อ้างอิงมาจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน หรือเลือกเฟ้นมาโดยไม่ใส่ใจบริบท จนได้ผลสืบสวนที่มีการชี้นำเช่นนี้”

เครดิตสวิส ระบุว่า OCCRP ได้ดำเนินการสอบเครดิตสวิสหลายต่อหลายครั้งในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และตรวจสอบบัญชีจำนวนมาก โดย “ประมาณ 90% ของบัญชีที่ได้รับการพิจารณาถูกปิดไปแล้วหรืออยู่ระหว่างกระบวนการปิดบัญชีตั้งแต่ก่อนเปิดรับข้อซักถามของสื่อมวลชน ซึ่งกว่า 60% ปิดไปตั้งแต่ก่อนปี 2558”

“ส่วนบัญชีที่ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เรายินดีที่จะตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ พิจารณา และดำเนินการควบคุมอื่นๆ ตามกรอบงานในปัจจุบันของเรา โดยเราจะวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวต่อไปและดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น” เครดิตสวิส ยืนยัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook