สธ.จ่อชง ศบค. ไฟเขียวยกเลิกรักษาโควิดแบบฉุกเฉิน ลดราคาค่าตรวจ RT-PCR

สธ.จ่อชง ศบค. ไฟเขียวยกเลิกรักษาโควิดแบบฉุกเฉิน ลดราคาค่าตรวจ RT-PCR

สธ.จ่อชง ศบค. ไฟเขียวยกเลิกรักษาโควิดแบบฉุกเฉิน ลดราคาค่าตรวจ RT-PCR
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข จ่อชง ศบค.ชุดใหญ่ ไฟเขียวนโยบายยกเลิกให้ "โรคโควิด-19" ออกจากบริการ UCEP ให้คนไทยรักษาตามสิทธิของแต่ละคน พร้อมปรับราคาค่าตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ ตนและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเข้าร่วมการประชุมอย่างแน่นอน พร้อมระบุเตรียมเสนอให้ที่ประชุมอนุมัติการยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือการให้บริการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ และการปรับราคาค่าตรวจแบบวิธี RT-PCR

นายอนุทิน เปิดเผยว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตรียมที่จะเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ให้ออกจาก UCEP และให้ใช้แนวทางรักษาแบบตามสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพต่างๆ

ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่า แม้จะออกจาก UCEP แล้ว แต่ไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนที่ยังมีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้เร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการปรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ตามวิธีการตรวจ คือ ตรวจ 2 ยีนส์ จะจ่าย 900 บาท และ 3 ยีนส์ จ่าย 1,100 บาท ส่วนการตรวจด้วย ATK จะจ่าย 350 บาท และ 250 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทที่ใช้ตรวจ แต่จะต้องเป็น ATK แบบที่บุคลากรการแพทย์ใช้ (Professional Use) รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้ารับการดูแลในฮอสปิเทล (Hospitel) เป็น 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับการรักษาที่บ้าน (HI) โดยยืนยันการปรับดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด โดยใช้สิทธิการรักษาได้ตามสิทธิที่มี เหมือนการรักษาปกติ ยกเว้นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเอง

แนะวาเลนไทน์นี้ยึดมาตรการเว้นระยะห่าง หัวเราะหลังสื่อถามตรวจ ATK ก่อนมีเพศสัมพันธ์

ขณะที่เรื่องของการพิจารณามาตรการต่างๆ หลังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอย่างต่อเนื่องกว่าหมื่นรายต่อวันนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า จะต้องดูในภาพรวมที่มีการติดตามข้อมูลตลอดเวลา ทั้งผู้เสียชีวิตที่ขณะนี้ยังมีจำนวนเท่าเดิม และผู้ที่มีอาการรุนแรงไม่ได้มีเพิ่มขึ้น หากเปรียบเทียบอัตราส่วนถือว่าลดลงด้วยซ้ำ เพียงแต่การติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางการแพทย์ การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอาการไม่รุนแรง

ดังนั้น หากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วติดเชื้อก็ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ของแพทย์ แต่ยังต้องขอให้ยึดหลัก COVID Free Setting ให้เคร่งครัดที่สุด และเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ เข็ม 3 เข็ม4 โดยตอนนี้จะเริ่มฉีดให้เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป และเด็กวัยเรียนส่วนใหญ่ก็จะสามารถช่วยกันป้องกัน แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ก็คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ และพยายามอยู่กับโควิดให้ได้ หากเราฉีดวัคซีนและป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ก็จะปลอดภัย

เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้องมีการพิจารณามาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้หรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ช่วงเทศกาลถือเป็นสิ่งที่เราทราบกันดีว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด

รวมถึงช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าจะมีการแนะนำประชาชนอย่างไรนั้น นายอนุทิน ยิ้มก่อนจะกล่าวว่า “ผมทำหมันแล้ว” และขอให้ยึดมาตราการ COVID Free Setting รักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เราปลอดภัยจากโควิด ที่ประชาชนคนไทยทราบกันดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นักข่าวพยายามถามเพิ่มเติมว่าจะรณรงค์อย่างไรเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้มีการตรวจ ATK ก่อนมีเพศสัมพันธ์ นายอนุทิน หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดกัน ไม่เป็นไรหรอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook