มาบตาพุดอ่วมก๊าซรั่วซํ้า ล้มป่วยระนาว

มาบตาพุดอ่วมก๊าซรั่วซํ้า ล้มป่วยระนาว

มาบตาพุดอ่วมก๊าซรั่วซํ้า ล้มป่วยระนาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อานันท์ฉุนขาด เจอกับตัวเอง

"ก๊าซบิวเทน-วัน" รั่ว! ชาวมาบตาพุดระทม ล้มป่วยหามส่ง รพ.ระนาว 62 ราย เผยวาล์วเรือสินค้าที่เทียบท่ารั่ว ขณะโหลดสินค้าลงเรือขนส่งไปสิงคโปร์ "อานันท์" ลงพื้นที่ถกชาวบ้าน-ผู้ประกอบการ รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ ผงะกลิ่นสารเคมีหึ่ง จวกยับ "กนอ." ทำงานเช้าชามเย็นชาม หลังเกิดเหตุก๊าซรั่ว โวยปิดข่าวไม่แจ้งชาวบ้าน สร้างภาพลบให้องค์กรต่ำเตี้ยลงอีก นายกฯ ยันพร้อมแก้ไขปัญหาตามคำสั่งศาล คุยไม่เกิน "2 อาทิตย์" ได้ข้อสรุปผลกระทบ 65 โครงการมาบตาพุด "โฆษกเพื่อไทย" จี้ "มาร์ค" รับผิดชอบเหตุบริหารห่วย ลอยแพปัญหาปล่อยยืดเยื้อกว่า 1 ปี

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่าน มา เกิดเหตุก๊าซบิวเทน-วัน (Butene-1) รั่วไหลออกเซฟตี้วาล์วของเรือ GLOBAL HIME (โกลบอล ไฮม์) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะจอดเทียบท่าโหลดสินค้าอยู่ที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด แทงก์ เทอร์มินอล ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง เพื่อนำไปส่งที่ประเทศสิงคโปร์ มีชาวบ้านสูดดมก๊าซเข้าไปเกิดล้มป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.กรุงเทพระยอง 18 ราย และในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค.นี้ มีชาวบ้านล้มป่วยเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมอีก 44 ราย รวมเป็น 62 ราย ในจำนวนนี้มี 7 รายอาการหนัก แพทย์ต้องให้นอนพักรักษาตัวเพื่อเฝ้า ดูอาการอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ธ.ค. นพ.ชัชวาล ประดิษฐ์วงศ์สิน แพทย์เจ้าของไข้ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และหมดเรี่ยวแรง จึงตรวจรักษาพร้อมสั่งยาให้รับประทานและอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว จากการตรวจสอบพบผู้ป่วยได้รับกลิ่นก๊าซ บิวเทน-วัน มีลักษณะคล้ายก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจี ซึ่งไม่ใช่สารอันตราย แต่หากได้รับในปริมาณมากก็ทำให้ขาดออกซิเจน และอาจทำให้เสียชีวิตได้

นางสมบูรณ์ ดิษฐ์สันเที๊ยะ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35/12 ซอยร่วมพัฒนา เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด หนึ่งในผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่รพ. กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุตนและชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งร่วมกันทำกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช ที่บริเวณศาลากลุ่มประมงเรือเล็กตากวน อ่าวประดู่ ขณะนั้นมีลมพัดแรง หรือที่ชาวประมงเรียกว่าลมสลาตันพัดเอากลิ่นเหม็น คล้ายกลิ่นก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจี ผ่านมา พอสูดดมเข้าไปก็มีอาการวิงเวียนศีรษะ บางคนถึงกับอาเจียนออกมา ต้องรีบอพยพออกจากบริเวณดังกล่าวทันที และสุดท้ายญาติพี่น้องต้องพามาพบแพทย์

วันเดียวกัน นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย นำคณะกรรมการลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแฟบ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากชาวบ้านผู้ฟ้องร้องคดีทั้ง 43 ราย และชาวบ้านจาก ต.เนินกะปรอก อ.บ้านฉาง และ อ.ปลวกแดง ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ระหว่างรถบัสของคณะเดินทาง มาถึงบ้านหนองแฟบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและผาแดงมากนัก นายอานันท์ถึงกับบ่นเมื่อได้กลิ่นเหม็นคล้ายก๊าซไข่เน่าโชยมาตามลม และเปรย ว่าเข้าใจแล้วว่าชาวบ้านต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะขนาดช่วงกลางคืนเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ๆ แถวโรงแรมแห่งหนึ่งที่เข้าพักยังได้กลิ่นสารเคมี แต่คงไม่สามารถระบุหรือกล่าวโทษได้ว่ามาจากแหล่งใดหรือ โรงงานไหน

ต่อมานายอานันท์ และคณะกรรม การ พร้อมนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง เดินทางไปที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการจัดการมลพิษในประเด็นที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และผู้ประกอบการ 5 บริษัทเข้าร่วมรับฟังและตอบข้อซักถาม

นายวีระพงศ์ เปิดเผยว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับชุมชนรอบโรงงาน เริ่มเกิดปัญหามาตั้งแต่ปี 2540 ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นจากอุตสาหกรรม และต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการจัดการ กระทั่งปี 2548 ก็เกิดปัญหาเรื่องวิกฤติภัยแล้งขึ้น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและการแย่งใช้น้ำ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้าน และปัจจุบันเกิดปัญหาสาร อินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (วีโอซี) เกินมาตรฐานตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการฟ้องร้องต่อศาล และมีคำตัดสินให้ 65 โครงการจาก 76 โครงการในเขตอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอาร์ไอแอล และนิคมเอเชีย ตะวันออกต้องระงับตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กนอ.จะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตโครงการมา รับฟังการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 8 ธ.ค.นี้

รองผู้ว่า กนอ. ยังกล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการระเหยของสารวีโอซี ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามสารวีโอซีในบรรยากาศจากแหล่งกำเนิด ซึ่งในช่วงปี 2551 ที่เกิดปัญหา พบมีการรั่วมากถึง 600 จุด แต่ขณะนี้จัดการปัญหาได้เกือบหมดแล้ว ส่วนการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในเขตมาบตาพุด ขณะนี้ได้เก็บข้อมูลอุตุนิยมฯและคุณภาพอากาศเกือบครบ 1 ปีแล้ว คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงเดือน ม.ค. 2553 และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

นายวีระพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในช่วงปี 2550 ทางคณะกรรมการศึกษาหาความสัมพันธ์ของสารมลพิษกับปัญหาทางด้านสุขภาพของชาว บ้าน ก็ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ดีจากการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษระหว่างปี 2550-2554 โดยเฉพาะก๊าซซัล เฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนได ออกไซด์ มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากความร่วมมือของผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายอานันท์ได้ซักถามถึงเรื่องก๊าซบิวเทน-วัน รั่วไหล เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนายอานันท์และคณะกรรมการลงพื้นที่ โดย นายวีระพงศ์ได้รายงานให้ทราบ พร้อมชี้แจงว่าได้ส่งข้อมูลรายงานมายังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กับ กนอ.แล้ว และหลังเกิดเหตุสั่งการให้เรือลำดังกล่าวถอนสมอ ออกจากฝั่งประมาณ 10 กม. ทันที เพื่อให้ซ่อมแซมและมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน เพราะกว่ากระบวนการรายงานตามขั้นตอนจะแล้วเสร็จก็ปาเข้าไปเวลา 17.00 น. หรือราว 5 โมงเย็น จนมีรายงานว่ามีชาวบ้านที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุล้มป่วย 17 ราย โดยในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ได้เดินทางไปเยี่ยมแล้ว และได้รับรายงานว่ามีชาวบ้านทยอยเข้ารับการรักษาในรพ.อีกจำนวนหนึ่ง จึงได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจะเดินทางไปเยี่ยมเป็นการส่วนตัวในโอกาสต่อไป

หลังนายอานันท์รับฟังรายงานและการชี้แจงก็มีสีหน้าไม่พอใจ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กนอ. มีศักยภาพในการควบคุมนิคมและโรงงานในนิคมได้หรือไม่ เพราะขนาดก๊าซรั่ว ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉิน แต่ยังใช้ระบบราชการ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไม่ทันกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นอีกครั้งที่เสริมภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีของ กนอ.กับชุมชน ในฐานะที่มาลงพื้นที่ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วงมาก ๆ และหนักใจมากกับ ปัญหาในพื้นที่

"ถ้าดูจากเอกสารที่แต่ละโรงงาน ได้รายงานผลการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ก็ ดูสวยดี และบอกว่าแก้ได้ แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่ดี ขาดประสิทธิภาพ และทำให้ภาพลักษณ์การบริหารงานของกนอ.ที่ไม่ดีอยู่แล้วแย่กันใหญ่จากการคุย กับคนบางกลุ่มเป็นการ ภายในและส่วนตัว ส่วนใหญ่บอกถึงเรื่องในแง่ไม่ดีของ กนอ. กับโรงงาน ตรงนี้อยาก ฝากว่าการดำเนินธุรกิจซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่การขายของเท่านั้น กระทรวงทรัพยากรฯ มีการให้ข้อมูลว่ามีอิทธิพลการเมืองแทรกแซง และการตั้งรับกับปัญหาในพื้นที่บางเรื่องยังแค่เริ่มเตรียมการ คงไม่ทันกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น"นายอานันท์กล่าวตำหนิอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงกำลังเข้ามาประเมินศักยภาพการรองรับของแหล่งน้ำในเขตภาคตะวัน ออก เนื่องจากมี การร้องเรียนเรื่องการแย่งกันใช้น้ำระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน และกำลังศึกษาผลกระทบของวีโอซีในแหล่งน้ำใต้ดินด้วย

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าการลงทุนมากถึง 3 แสนล้านบาทว่า ในหลักการรัฐบาลจะนำคำสั่งศาลไปแจ้งต่อเอกชน และหารือเพื่อหาวิธีกระทำไม่ให้กระทบต่อทุกฝ่าย แต่ต้องน้อมรับคำวินิจฉัย ของศาล สำหรับโครงการที่ต้องระงับก็จะรวบรวมผลกระทบทุกด้าน ทั้งการจ้างงาน การเงิน ปัญหาเกี่ยวเนื่องถ้าเปิดดำเนินการไม่ได้มาประมวลทั้งหมด คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีความคืบหน้า รวมทั้งข้อเสนอจากกรรมการ 4 ฝ่ายที่ลงพื้นที่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อทำเสร็จแล้ว ทั้ง 65 โครงการที่ศาลสั่งให้ ระงับอยู่ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกระบวนการนี้ และเมื่อดำเนินการตามแล้วก็จะ ทำคำร้องต่อศาลอีกครั้งว่าจะสามารถยก เลิกคำสั่งระงับได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้กระบวนการพัฒนาตรงนี้สามารถเดินต่อไปได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต้องช่วยกันคลี่คลาย รัฐบาลต้องการให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่กระทบประชาชน เชื่อว่าทั้งรัฐบาล และเอกชนพร้อมดำเนินการตามนี้ เพียง แต่ขอให้กระบวนการทั้งหลายเดินหน้า ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้เราสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาคมโลก และภาคธุรกิจในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นั้น รัฐบาลได้เพิ่มความช่วยเหลือต่าง ๆ และกำลังรอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร และในอนาคตจะมีการป้องกันและแก้ไขได้ อย่างไร

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ 65 โครงการว่า จะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ บริหารเศรษฐกิจแบบขาดความเป็นมืออาชีพ ขาดความเข้าใจ ปล่อยให้ผ่านมา 1 ปี แทนที่จะบูรณาการทำตามกรอบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง และมีกฎหมายลูก มีคณะกรรมการมารองรับ หรือ ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ตั้งแต่ตอนแรกเข้ามาบริหาร ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ กลับมาตั้งหลังจากเกิดปัญหาแล้ว

โฆษกเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เหมือน "มือใหม่หัดขับ" นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักธุรกิจ ผู้ลงทุนได้ ปล่อยการแก้ปัญหาเป็นไปตามยถากรรม สร้างความเสียหายอย่างมากในเรื่องภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ ผู้ใช้แรงงานในโครงการเกือบ 4 หมื่นคน จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักลงทุนอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาล ผู้เสียประโยชน์คือประชาชนทั้งประเทศที่นำเงินภาษีมาแก้ปัญหาให้กับการ บริหารที่ล้มเหลว จึงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารที่ล้มเหลว.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook