สภาล่ม ซ้ำซาก! ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี วันนี้ได้โหวตผลศึกษาคลองไทยแค่ฉบับเดียว

สภาล่ม ซ้ำซาก! ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี วันนี้ได้โหวตผลศึกษาคลองไทยแค่ฉบับเดียว

สภาล่ม ซ้ำซาก! ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี วันนี้ได้โหวตผลศึกษาคลองไทยแค่ฉบับเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

#สภาล่ม อีกแล้ว! เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน และครั้งที่ 3 เมื่อนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่เป็นครั้งที่ 16 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

วันนี้ (4 ก.พ.) ตั้งแต่เวลา 9.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ ซึ่งมีระเบียบวาระในการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อจากการประชุมครั้งก่อน

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.50 น. ที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรของวันนี้ต้องปิดลง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงสายๆ ของวันนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 121 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง

"ชลน่าน" ติง! สภาตีตกรายงานของ กมธ. ไม่เกิดประโยชน์-สูญเสียงบ

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นท้วงติงหลังทราบมติของที่ประชุมว่า การลงมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสภาฯ ไม่มีอำนาจที่จะเห็นชอบกับรายงาน มีเพียงอำนาจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเพียงเท่านั้น พร้อมย้ำว่า รายงานดังกล่าวจำเป็นจะต้องส่งไปยังคณะรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมาธิการได้มีการจัดทำไว้แล้ว ส่วนจะนำไปสู่การดำเนินการหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณา โดยหากยึดเป็นบรรทัดฐาน จะทำให้รายงานของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาในญัตติต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์ เสียงบประมาณ เพราะเมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบต้องตกไป ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ใช้เวลาพิจารณาศึกษานานถึง 2 ปี

ด้าน นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุม ชี้แจงว่า รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ จำเป็นจะต้องมีการลงมติ เพื่อจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ก่อนที่จะส่งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องลงมติต่อรายงานต่างๆ หากจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานภายนอกพิจารณา

เจอเสนอนับองค์ประชุม ยื้อแค่ไหนสุดท้ายก็ล่ม

ต่อจากนั้น มีการพิจารณารายงานผลการศึกษา เรื่อง ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืนของคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ซึ่งหลังจากการอภิปรายของสมาชิกเสร็จสิ้นลง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ณ ขณะนั้น ต้องตรวจสอบองค์ประชุมก่อนที่จะให้มีการโหวตว่าจะเห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าวหรือไม่

แต่ปรากฏว่า นายชวน ใช้เวลารอให้สมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมอยู่นานร่วม 20 นาที จน ส.ส. ฝ่ายค้าน 2-3 คน ลุกขึ้นประท้วงว่าควรจะปิดการแสดงตนแล้วขานจำนวนองค์ประชุม เพราะมั่นใจว่าองค์ประชุมไม่ครบอย่างแน่นอน

กระทั่งในที่สุด ผลปรากฏว่า มีผู้แสดงตนเพียง 195 คน จากองค์ประชุม 237 คน (เนื่องจากปัจจุบันมี ส.ส. ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน องค์ประชุมจะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ที่มีอยู่ นั่นก็คือ 237 คน) จึงทำให้ นายชวน สั่งปิดประชุม

parliament-040222

ถือว่าเป็นเหตุการณ์ #สภาล่ม เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน และเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2565 และยังนับเป็นครั้งที่ 16 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวถาโถมว่าความปั่นป่วนวุ่นวายไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐคือสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้การควบคุมเสียง ส.ส. ในฝั่งรัฐบาลเกิดอาการสะดุด และกลายเป็นแรงกดดันโดยตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป แม้จะย้ำมาโดยตลอดว่ายังไม่คิดที่จะตัดสินใจทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่การยุบสภา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook