โจโฉ ยูทบเบอร์นักเดินป่า ค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี ที่ จ.ตาก

โจโฉ ยูทบเบอร์นักเดินป่า ค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี ที่ จ.ตาก

โจโฉ ยูทบเบอร์นักเดินป่า ค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี ที่ จ.ตาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โจโฉ ยูทบเบอร์นักเดินป่า ค้นพบ "บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน" ชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี ขณะเดินป่าที่ จ.ตาก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลก บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน (Taksinus bambus) โดยทีมผู้วิจัย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวุฒิไกร ใข่แก้ว นักวิชาการอิสระ และ โจโฉ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ค้นพบบึ้งชนิดนี้ในขณะเดินป่าที่ จ.ตาก 

สำหรับ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกค้นพบและตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 จัดจำแนกในวงศ์ย่อย Ornithoctoninae เป็นกลุ่มบึ้งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมา โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ใน จ.ตาก ประเทศไทย

ล่าสุด (2 ก.พ. 65) ที่อาคาร 5101 คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ดรุณี โชดิษฐยางกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ปรเมศ บรรเทิง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและการต่างประเทศ แถลงข่าวการค้นพบบึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinus bambus หรือ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของเอเชียในรอบ 104 ปี และยังเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบบึ้งสกุลใหม่จากประเทศไทยโดยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่จังหวัดตาก และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยลักษณะนิเวศวิทยาของบึ้งชนิดนี้มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นบึ้งชนิดแรกในโลกที่มีการดำรงชีวิตอยู่เฉพาะบนต้นไผ่เท่านั้น  สร้างความน่าประหลาดใจแก่วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุลคือ Omothymus, Lampropelma, Phormingochilus และ Melognathus กระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอเนียว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมาก่อนหน้านี้ โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในพื้นที่จังหวัดตาก บึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง

จากการศึกษาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายใน รวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่นๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไป หรือเกิดจากการปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่ รวมจากการกระทำของคน บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้อง และมักออกมาหาอาหารซึ่งจะเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน ลักษณะสำคัญในการจำแนกบึ้งสกุล Taksinus มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและความชันของส่วนปลายน้อยกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบทั้งหมด รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ ด้วย แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31 เปอร์เซ็นต์ หากในอนาคตพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากลักษณะการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับป่าไผ่ และสามารถพบได้บนพื้นที่บนภูเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น

สำหรับ “โจโฉ” ทรงธรรม สิปปวัฒน์ เป็นยูทูบเบอร์สายเดินป่าชื่อดังเจ้าของช่อง JoCho Sippawat ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคน ประวัติส่วนตัว เรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา จังหวัดตาก เป็นยูทูบเบอร์ชาติพันธุ์ม้ง ที่มักจะนำเสนอคลิปวิดีโอวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบ้านเกิด การดำรงชีวิตและการเอาตัวรอดเมื่อต้องอาศัยอยู่ในป่า เปิดโลกของสัตว์ที่คนมองว่าอันตรายและมีพิษ รวมถึงผลไม้ป่าและสารพัดเมนูที่หลายคนไม่ค่อยรู้จัก 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ โจโฉ ยูทบเบอร์นักเดินป่า ค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลกในรอบ 104 ปี ที่ จ.ตาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook