น่าเศร้าใจ! "ศิริกัญญา" ชี้ ฟื้นตลาดแรงงานซาอุฯ สะท้อนวิกฤตสมองไหล

น่าเศร้าใจ! "ศิริกัญญา" ชี้ ฟื้นตลาดแรงงานซาอุฯ สะท้อนวิกฤตสมองไหล

น่าเศร้าใจ! "ศิริกัญญา" ชี้ ฟื้นตลาดแรงงานซาอุฯ สะท้อนวิกฤตสมองไหล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าเศร้าใจ! ฟื้นตลาดแรงงานซาอุฯ สะท้อน วิกฤตสมองไหล

ขณะที่ราคาสินค้าหลายอย่างแพงขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหมู ที่ปรับราคาขึ้น 20-25 บาท ส่งผลให้ราคาอาหารตามสั่งและสำเร็จรูปในท้องตลาดสูงขึ้นไปด้วย พ่อค้าแม่ค้าบางเจ้าถึงขั้นต้องเลิกขาย หรือปรับเปลี่ยนเมนู เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในยุคที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง สินค้าแพงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายรับเท่าเดิม และรัฐบาลยังไม่มีทีท่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมตัวกันที่หน้าธรรมเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง พร้อมทั้งออกมาตรการเร่งด่วนลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดค่าเทอม 50 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเบี้ยคนชราเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 425 บาท เพิ่มค่าสงเคราะห์บุตรเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการทวงถามนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้เมื่อก่อนเป็นรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมนำป้ายนโยบายการหาเสียงของพรรคที่ยังทำไม่ได้มาติดรอบรั้วทำเนียบ เช่น ค่าเเรงขั้นต่ำ 400-425บาทจบปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่นบาท

อีกด้านที่เหมือนมิติคู่ขนาน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเดินทางไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 หลังยุติความสัมพันธ์มากว่า 30 ปี นายสุชาติ เปิดเผยหลังเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมของซาอุดีอาระเบียว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการแรงงานมีฝีมือ (Skilled Labor) โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่าง ๆ ใน Saudi Vision 2030 และมีมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติเพื่อรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่มให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยเอง แสดงความยินดีกับเรื่องนี้ พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า

“ไทยมีแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงาน ยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่สามารถฝึกอาชีพ และประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนและภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน”

ก็อาจจะไม่ผิดที่หลายคนแม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเองจะมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของแรงงานไทย เพราะในช่วงปี 2530 มีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียถึง 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี แต่การส่งออกแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจจากเงินที่ส่งกลับประเทศเป็นโมเดลที่เหมาะสมกับปัจจุบันหรือไม่?

กว่า 30 ปีผ่านไป เรายัง “ดีใจ”ที่จะได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานหาเงินที่แดนไกล ห่างเหินครอบครัว... ส่วนผมนั้น “สะเทือนใจ” กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

เช่นเดียวกับ ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มองว่า การขณะเดียวกัน การจ้างงานแรงงานต่างชาติ 8 ล้านอัตรา ดูเป็นการขายฝัน เพราะที่ประเทศซาอุดีอาระเบียก็มีปัญหาเรื่องการว่างงานถึง 11-12% ประกอบกับนโยบาย Saudization ที่เน้นการจ้างคนในประเทศมากขึ้น จึงเป็นเรื่องแปลกที่เราจะฝากความหวังไว้ ทั้งที่เขาจะบูสการจ้างงานของคนในประเทศด้วยซ้ำ แม้จะมีความต้องการแรงงานต่างชาติอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึง 8 ล้านอัตรา เพราะตอนนี้ในซาอุดีอาระเบียมีการจ้างงานต่างชาติอยู่แล้วถึง 10.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะส่งเสริมให้คนออกไปทำงานในต่างประเทศ นอกจากการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว รัฐบาลต้องคำนึงถึงสิทธิแรงงาน เพื่อดูแลสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานไทยในต่างแดนด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศต้องทำงานควบคู่กันไป

ทั้งนี้ ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงที่ภาครัฐเองยังคิดว่าเราจำเป็นต้องส่งแรงงานไปต่างชาติเพื่อให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่เราไม่สามารถหางานที่ดี เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีในประเทศได้ และถ้าเราไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดแรงงานที่ดีที่ทำให้คนอยากทำงานและอาศัยต่อ มันจะเกิดการสมองไหล คนที่เรียนมาระดับหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่มีตลาด ไม่มีงาน ไม่มีอนาคต ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้อยากออกไปทำงานเป็นแรงงานในซาอุดีอาระเบีย แต่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่อยากออกไปตามหาความฝันของตัวเอง

ด้านหนึ่งก็เป็นสิทธิของแรงงานเองที่จะตัดสินเลือกไปทำงานอยู่ต่างประเทศเพราะค่าแรงที่แพงกว่า แต่การไปทำงานต่างประเทศก็มีข้อเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลสิทธิแรงงาน ถึงว่าในประเทศไทยเองจะไม่ได้มีการคุ้มครองแรงงานที่ดีมากนัก แต่อย่างน้อยแรงงานยังสามารถต่อรองกับนายจ้างได้
ขณะเดียวกันการส่งเงินกลับมาประเทศ (Remittance) คิดเป็นแค่ 1.3% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงเท่ากับหลายประเทศเช่น ฟิลลิปปินส์ ดังนั้นระบบการชำระเงินจากต่างประเทศก็ยังไม่พัฒนา และหากเราต้องพึ่งพาเงินที่ส่งมาจากแรงงานในต่างประเทศก็เหมือนการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศที่รับแรงงานไปทำงาน ถ้าเศรษฐกิจประเทศนั้นมีวิกฤต เศรษฐกิจในประเทศไทยก็จะวิกฤตไปด้วย เหมือนที่เราเคยเจอบทเรียนจากการพึ่งพาเงินจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศเปราะบาง โจทย์คือต้องทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแรง มีตลาดแรงงานที่เหมาะสมในกับแรงงานในประเทศก่อน

“เยาวชนเติบโตมาก็ไม่มีความหวัง เขาก็ต้องฝันที่จะออกไปหางานทำต่างประเทศ เราจะอยู่ในสังคมแบบไหน แบบที่เรารู้ตัวว่าไม่สามารถทำงานในประเทศ และอยู่กับครอบครัวได้ แต่ถ้าพวกเขาต้องไปทำงานต่างประเทศ แล้วเศรษฐกิจในประเทศก็จะไม่แข็งแรง ถ้ายังพึ่งพาการทำงานเพื่อส่งเงินกลับมาจากต่างประเทศ แล้วถ้าประเทศเหล่านั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในประเทศก็จะพังไปด้วย เหมือนที่เราพึ่งการท่องเที่ยว เป็นหลักทำให้เศรษฐกิจในประเทศก็จะเปราะบางไปด้วย”

เราต้องรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเริ่มจากการตลาดแรงงานในประเทศให้มีงานที่เหมาะสมและเพียงพอก่อน เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พูดกันมานาน แต่รัฐบาลก็พยายามโบ้ยให้คนอื่น เช่น คณะกรรมการไตรภาคีซึ่งรัฐก็เป็นหนึ่งในภาคีนั้น เราต้องทำให้ตลาดแรงงานของไทยมีความเข้มแข็ง มีการคุ้มครองทั้งนายจ้างลูกจ้าง และปรับสภาพการทำงานให้เหมาะสม ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลเองก็ยื่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในหลายเรื่อง เช่น การลาคลอด 180 วันทั้งพ่อและแม่ หรือการลดชั่วโมงแรงงานตามกฎหมายลงไปเพื่อให้แรงงานมีเวลาพักผ่อนหรือพัฒนาตัวเอง หรือนโยบาย9k,สนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้แรงงานรับจ้างอิสระจัดตั้งสหภาพเพื่อต่อรองกับนายจ้างหรือคู่สัญญาได้

ผู้เขียน - อรรถชัย หาดอ้าน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook