ร้ายแรงแค่ไหน! ตามผลกระทบหลังวิกฤติน้ำมันรั่ว จ.ระยอง (มีคลิป)
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1701/8509766/283826.jpgร้ายแรงแค่ไหน! ตามผลกระทบหลังวิกฤติน้ำมันรั่ว จ.ระยอง (มีคลิป)

    ร้ายแรงแค่ไหน! ตามผลกระทบหลังวิกฤติน้ำมันรั่ว จ.ระยอง (มีคลิป)

    2022-01-28T11:40:13+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    คราบน้ำมัน 4 แสนลิตรของบริษัท สตาร์ ปีโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่รั่วไหลสู่ทะเลเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง

    โดยทางบริษัทฯ ออกแถลงการณ์ว่าพบการรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งบริษัทฯ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน และหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย

    ซึ่งต่อมา วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลนั้นอยู่ที่ 1.6 แสนลิตร และสามารถปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก

     

    ด้าน พงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์  ผจก.ฝ่ายความปลอดภัยระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย บริษัทฯ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุมีการตัดแยกระบบและส่งนักประดาน้ำไปดูในจุดที่มีโอกาสจะรั่ว ซึ่งพบว่ามีข้อต่อตัวหนึ่งเป็นข้อต่ออ่อนระหว่างจุดถ่ายน้ำมันกับตัวท่อที่ต่อเข้าท่อใต้น้ำรั่ว ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการปิดกั้นตามขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

    ท่อดังกล่าวมีการตรวจสอบมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในการผลิต มีการตรวจสอบและเปลี่ยนท่อตามระยะเวลาที่กำหนดทุก 3 ปี ซึ่งจะถึงเวลาเปลี่ยน เม.ย. 2565 นี้ แต่เกิดเหตุรั่วไหลเสียก่อน ล่าสุดจุดที่รั่วไหลมีน้ำมันรั่วไหลสูงสุดประมาณ 50,000 ลิตร หรือแค่ 5.3 ตันในทะเล คาดว่าไม่น่าจะเกินเที่ยงของวันที่ 27 ม.ค. นี้ จะสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้หมด

    ด้านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผย สาเหตุที่เกิดน้ำมันรั่วยังต้องรอการสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนตัวเลขที่แจ้งไม่ตรงกันในช่วงแรกเกิดการสับสน เพราะมีการประเมินในช่วงกลางคืน ที่คิดว่ามาจากข้อต่อด้านบนพอเช้า ตรวจสอบไปพบว่าเกิดจากข้อต่อด้านล่างจึงคาดว่าน่าจะมีจำนวน 1.6 แสนลิตร

    แต่เมื่อประดาน้ำลงไปสำรวจจึงพบว่ามีปริมาณ เพียง 50,000 ลิตร ซึ่งในขณะนี้ได้กำจัดไปแล้ว ที่เหลืออยู่จริงจำนวน 5,000 ลิตร ซึ่งจะกำจัดได้ภายในวันนี้

    นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาติดตามตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

    ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล ฝากถึงทุกฝ่ายที่เป็นห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า ขณะนี้ได้มีทีมวิจัยลงพื้นที่เตรียมพร้อมปฏิบัติการสำรวจผลกระทบจากน้ำมันในชายฝั่งต่างๆ ของไทยแล้วโดยจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบก่อน กับ หลังที่น้ำมันจะลอยขึ้นมา ซึ่งถ้าน้ำมันไม่เข้าถึงฝั่ง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็มีข้อมูลไว้ รวมถึงข้อมูลในทะเลด้วย

    ผศ.ดร. ธรณ์ ยังบอกด้วยว่า คำว่ามีผลกระทบหรือไม่มีผลกระทบ ไม่ใช่แค่ตาเห็นหรือพูดกัน วิทยาศาสตร์ต้องเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อระบุถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้

    เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลระยอง เพราะท่อแตกจากการขนถ่ายน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที ซีจี โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เหตุเกิดที่บริเวณทุ่นรับน้ำมัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กม. ปริมาณน้ำมันที่รั่วคาดว่าไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร

    ครั้งนั้น บริษัท พีทีที ซีจี ใช้วิธีการจัดเก็บโดยการใช้สารเคมีฉีดพ่นสลายคราบน้ำมัน ในปริมาณที่มากกว่า 30,000 ลิตร น้ำมันดิบบางส่วนที่กำจัดได้ไม่หมดจึงไหลไปขึ้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด

    แต่ความเสียหายที่ตามมาคือ มีทาร์บอลขึ้นชายหาด ตั้งแต่บริเวณชายหาดปากน้ำไปจนถึงปากคลองแกลง สัตว์สงวนหรือสัตว์ทะเลหายาก เกิดล้มตายมากขึ้น ระบบนิเวศเปลี่ยนไป สัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้งเคยไม่มาตามฤดูกาล ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง บางครั้งทำการประมงแล้วขาดทุนจึงต้องพักและเปลี่ยนอาชีพไป ความเดือดร้อนมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการฟื้นฟูเยียวยาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมจากผู้ก่อมลพิษ

    ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันฟ้องคดีความ กับ บริษัท พีทีทีฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษในทะเล เพื่อให้ฟื้นฟูทะเลระยองและชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

    จนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลจังหวัดระยอง พิพากษาให้ บริษัท พีทีทีฯ ชดใช้ค่าเสียหายกับกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก และกลุ่มอาชีพค้าขาย กรณีที่ทำน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลระยอง เมื่อปี 2556 โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้อง แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้านเรือเล็กให้ทางบริษัท ชดใช้ค่าเสียหาย คนละ 90,000 บาท  กลุ่มอาชีพค้าขาย คนละ 60,000 บาท โดยหักจากเงินที่เคยเยียวยาไปก่อนหน้านี้แล้ว