วิษณุ ชี้มาตรา 112 แก้ผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่ต้องประชุมลับ

วิษณุ ชี้มาตรา 112 แก้ผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่ต้องประชุมลับ

วิษณุ ชี้มาตรา 112 แก้ผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่ต้องประชุมลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“วิษณุ” ชี้ ม.112 แก้ไขผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่จำเป็นต้องประชุมลับ ยกเว้นถ้าใครพูดอะไรแปลก ก็ต้องประชุมลับ

วันนี้ (1 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการแสดงจุดยืนต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านกลไกรัฐสภาจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ว่า ตนได้ทราบมาบ้างว่ามีความเคลื่อนไหวที่จะให้แก้ไข ซึ่งตนมองว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายอย่างหนึ่ง ที่ต้องยึดตามเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. และไม่ใช่กฎหมายการเงิน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต้องรับรอง โดยสามารถเข้าชื่อเสนอต่อสภาได้ตามปกติ ส่วนที่เสนอไปแล้วจะได้รับการยกขึ้นมาพิจารณาหรือเลื่อนไปเมื่อใดนั้น ต้องดูคิวกฎหมายที่รอการพิจารณาอยู่หลายฉบับ เหมือนการแก้ประมวลกฎหมายอาญาตามปกติ

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่กฎหมายมาตราดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ทุกคนทราบดี เรื่องนี้จะไปอ่อนไหวกันตอนอภิปรายว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน

ส่วนจะต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นการประชุมลับ เพราะเห็นอยู่ว่าข้อความในกฎหมายนั้นว่าอย่างไร แต่ถ้าไปเจอใครพูดอะไรที่แปลกก็อาจจะต้องขอประชุมลับ พร้อมกับยืนยันว่าการอภิปรายในสภานั้นมีกฎหมายคุ้มครองผู้อภิปรายตามปกติ ส่วนการจะเสนอแก้หรือไม่แก้ไขนั้นก็เป็นเรื่องปกติ

ชี้อัยการยังไม่สั่งฟ้อง "นิพนธ์" ยกเป็นกรณีศึกษา อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่สปิริตเป็นอีกเรื่อง

นอกจากนี้ รองนายกฯ วิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เตรียมยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ตรวจสอบนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ จากกรณีถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ว่า ยังไม่ได้ตามเรื่องแต่อ่านจากที่ในไลน์มีคนส่งมาให้ ซึ่งเรื่องนี้ขอให้ถามนายนิพนธ์เอง เพราะคดีดังกล่าวมีการต่อสู้กันมานานหลายปี และน่าจะเป็นกรณีศึกษาเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเกิดที่ท้องถิ่นก่อนที่นายนิพนธ์จะลงการเมืองมาสมัครผู้แทนราษฎร

ซึ่งเท่าที่ทราบ เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าผิดและส่งอัยการฟ้อง แต่อัยการได้ทักท้วง ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่ามีข้อไม่สมบูรณ์หลายข้อ จึงยังไม่ยุติว่าอัยการฟ้อง กลายเป็นกรณีศึกษาที่อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเห็นจากข่าวว่านายเรืองไกรจะส่งเรื่องนี้อยู่

ส่วนทางกฎหมายมองว่านายนิพนธ์ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า บังเอิญว่าเรื่องนี้อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ส่วนเรื่องสปิริตนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เอาหลักดีกว่าที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องและยังโต้แย้ง ป.ป.ช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook