กลวิทยาศาสตร์

กลวิทยาศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระตุ้นต่อมความอยากรู้ อยากเห็น และสร้างความช่างสังเกต พื้นฐานสำคัญของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนไทย ด้วยกิจกรรมยุคใหม่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กับ กลวิทยาศาสตร์ ที่หยิบจับสิ่งของใกล้ตัวหรือความรู้ตามธรรมชาติมาสร้างห้องทดลองนอกห้องเรียน และทำวิทยาศาสตร์ วิชาที่เคยน่าเบื่อสำหรับเด็ก ๆ ให้กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน และน่าติดตาม

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า เนื่องจากเด็ก ๆ มักมองว่าวิทยาศาสตร์น่าเบื่อ ไม่อยากเรียน สวทช.หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ หน่วยงานในกระทรวงฯ จึงนำเสนอมิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า กลวิทยาศาสตร์ ให้เด็ก ๆ ได้ทดลองและเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานสมวัย

ดร.คุณหญิงกัลยา บอกว่า อยากให้ เด็ก ๆ เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีความสุข ไม่ใช่หวังที่จะให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่อยากให้เยาวชนคิดเป็น คิดชอบ ซึ่งจะสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาได้

ซึ่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือจะผลักดันให้เด็ก ๆ ฉลาดได้นั้น สามารถทำได้ตั้งแต่วัยอนุบาล หรือ 3 ขวบขึ้นไป เแพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก บอกว่า เด็กไทยมีความสามารถไม่้ใครในโลก ซึ่งธรรมชาติของเด็กโดยเฉพาะช่วง 3-6 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองอยากจะเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น หากได้รับการส่งเสริมเด็กจะพัฒนาไปเป็นคนที่เฉลียวฉลาดได้

และหากจะขยายโอกาสให้เด็ก ๆ ทั้งประเทศสามารถพัฒนาศักยภาพสมองได้อย่างเท่าเทียมกัน กิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่ง กลวิทยาศาสตร์ สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้

แถมไม่ใช่เรื่องยาก..ที่คุณครูจะนำมาเป็นสื่อการสอน หรือผู้ปกครองนำไปทำเป็นกิจกรรมในครอบครัวโดยไม่ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ราคาแพง

อย่างเช่น ไข่ลอยน้ำ ตามธรรมชาติไข่จะจมน้ำ แต่หากใส่เกลือลงไป กลายเป็นน้ำเกลือ ไข่จะลอยน้ำได้ เพราะว่าน้ำเกลือมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำธรรมดา หากอยากให้ตื่นเต้นมากกว่านั้น สามารถทำให้ไข่ลอยอยู่กลางขวดได้เพียงแค่เติมน้ำธรรมดาลงไปอีกครั้ง

ส่วน ปลาว่ายน้ำในขวด ก็สร้างความสงสัยให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ว่า ทำไมปลาสามารถว่ายน้ำในขวดพลาสติกใสที่ตัดครึ่งได้โดยที่น้ำยังเต็มขวดอยู่ สาเหตุก็เนื่องมาจากแรงดันบรรยากาศที่ดันไว้ไม่ให้น้ำไหล ออกมานั่นเอง

สำหรับ เทียนพิศวงดูดน้ำได้ ก็ใช้หลักการง่าย ๆ ของการแทนที่อากาศ โดยจุดเทียนตั้งไว้ในน้ำสีแล้วใช้ขวดครอบเทียนนั้นไว้ ออกซิเจนในขวดที่ถูกใช้ในการเผาไหม้ น้ำจึงถูกดันเข้าไปพร้อมกับอากาศภายนอกเพื่อสรางความสมดุลระหว่างภายในและภายนอกขวดนั่นเอง

หรือจะเป็น รวมกันแล้วไม่เหนียว เชื่อว่ากิจกรรมนี้ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่รู้ว่าหมากฝรั่งที่นิยมเคี้ยวกันนั้น เมื่อเคี้ยวจนหายหวานแล้ว สามารถทำให้เศษหมากฝรั่งนั้น ๆ ไม่เหนียวอีกต่อไปได้ด้วยการเคี้ยวช็อกโกแลตตาม เพราะช็อกโกแลตจะไปทำปฏิกิริยาสลายโพลิเมอร์หรือหมากฝรั่ง

นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่น่าสนใจอีกมาก เช่น การเสกน้ำเปลี่ยนสีได้ด้วยสารเคมีในบ้าน การอาบน้ำให้ใบบัวที่ทุกคนรู้ดีว่าจะไม่เปียกเพราะมีขนอ่อนเล็ก ๆ ทำหน้าที่เป็นแวกซ์กันน้ำเกาะ หรือ ขวดดูดไข่ ที่ไข่ฟองโตสามารถเข้าไปอยู่ในขวดที่ปากแคบกว่าได้ และก่อความสงสัยต่อไปอีกว่า จะนำไข่ออกมาได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้คือกลวิทยาศาสตร์ ที่จะจุดประกายการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีให้กับเยาวชนไทย

กิจกรรมนี้นอกจากจะนำไปสร้างความสนุกสนาน ในกิจกรรมของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้วยังเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป ผ่านมาทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทุกเช้าวันเสาร์อีกด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook