สธ.-แอสตร้าเซนเนก้า เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนโควิด 60 ล้านโดส สำหรับส่งมอบในปี 2565

สธ.-แอสตร้าเซนเนก้า เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนโควิด 60 ล้านโดส สำหรับส่งมอบในปี 2565

สธ.-แอสตร้าเซนเนก้า เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนโควิด 60 ล้านโดส สำหรับส่งมอบในปี 2565
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อนุทิน" เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดส วงเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท สำหรับการฉีดเน้นเป็นเข็มกระตุ้นในปี 2565 จัดส่งให้ครบภายใน 3 ไตรมาส

วันนี้ (29 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาวัคซีนโควิด 19 แอสตร้าเซนเนก้า สำหรับปี 2565 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขลงนามจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับปี 2564 จำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตภายในประเทศไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โดยทยอยผลิตและจัดส่งให้ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดเป็นไปตามสัญญา ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาและดำเนินการกระจายและฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถฉีดเข็ม 1 ได้ร้อยละ 85 ของประชากร และเข็ม 2 ครอบคลุมร้อยละ 74 ซึ่งขณะนี้ได้นำแอสตร้าเซนเนก้ามาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ของสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3-4 สัปดาห์ รวมถึงเป็นเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม และอาจเป็นเข็มที่ 1 ของสูตรไขว้กับไฟเซอร์ต่อไป เพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น

สำหรับปี 2565 รัฐบาลมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนฉีดเน้นเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งมีการจัดหาไว้อย่างเพียงพอ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับปี 2565 จำนวน 60 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการลงนามในวันนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการผลิตจากโรงงานภายในประเทศไทยและทยอยจัดส่งในไตรมาสแรก 15 ล้านโดส ไตรมาสที่ 2 จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาสที่ 3 อีกจำนวน 15 ล้านโดส

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับสิทธิพิเศษเป็นประเทศแรกๆ กรณีบริษัทพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งครอบคลุมสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ ได้สำเร็จ หรือสามารถใช้เป็นวัคซีนสำหรับกลุ่มเด็กได้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นวัคซีนรุ่นล่าสุดได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทยอย่างมาก

“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้แผนกระจายวัคซีนและแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชนสามารถป้องกันควบคุมการระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้นต้องขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ช่วยให้การจัดหาวัคซีนครั้งนี้สำเร็จเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนด้วยดีตลอดไป” นายอนุทิน กล่าว

ขณะที่ นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “สัญญาการจัดซื้อวัคซีนฉบับใหม่นี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของเราในการร่วมสนับสนุนรัฐบาลไทยในการลดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศ และควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดลต้า เรามุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเรารู้สึกขอบคุณรัฐบาลไทยที่เชื่อมั่นในความร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้าเสมอมา”

ทั้งนี้ ตามข้อตกลงในสัญญาฉบับดังกล่าว แอสตร้าเซนเนก้าจะทำการจัดหาวัคซีนจำนวน 60 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลไทยภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เพิ่มเติมจากข้อตกลงการจัดซื้อวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบภายในปี 2564 โดยในปีนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนรวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 24.6 ล้านโดส ซึ่งรวมยอดวัคซีนที่ส่งมอบในเดือนกันยายนจำนวน 8 ล้านโดสแล้ว

ภายใต้สัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลไทยสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนจากวัคซีนรุ่นเดิมของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนรุ่นใหม่อย่าง AZD2816 ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยต่อไป

ขณะนี้ AZD2816 ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยในเฟสที่ 2 และ 3 โดยคาดว่าวัคซีนรุ่นใหม่นี้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์กลายพันธุ์หลัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการระบุกำหนดการส่งมอบวัคซีนรุ่นใหม่นี้ในลำดับต่อไป

แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 กว่า 1.3 พันล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ กว่า 170 ประเทศทั่วโลก โดย 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ

นับตั้งแต่มีการเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าครั้งแรกในช่วงต้นปี 2564 วัคซีนได้สร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยชีวิตผู้คนมากมายและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook