ไอเดียเด็กไทย ดีไซน์นวัตกรรมแห่งอนาคต

ไอเดียเด็กไทย ดีไซน์นวัตกรรมแห่งอนาคต

ไอเดียเด็กไทย ดีไซน์นวัตกรรมแห่งอนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : รัชดา ธราภาค

นิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก จากผลงานการออกแบบตู้เย็นขนย้ายมวลสาร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ในอีก 90 ปีข้าวหน้า

นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา อีเลคโทรลักซ์ ได้จัดโครงการประกวด ออกแบบผลิตภัณฑ์ 'ดีไซน์ แล็บ' ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาด้านออกแบบได้แสดงศักยภาพ ทางความคิดสร้างสรรค์ โดยการดีไซน์นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งแต่ละปี หัวข้อจะแตกต่างกันออกไป

ในปีนี้ หัวข้อได้แก่ "การออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตในอีก 90 ปีข้างหน้า" โดยนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกจะส่งผลงานเพื่อร่วมแข่งขันผ่านทางเว็บไซต์ www.electroluxdesignlab.com และมีการประกาศผลการตัดสินไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์การจัดนิทรรศการ 100% Design กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนับเป็นครั้งแรกที่จัดให้มี People's Choice Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับการโหวตสูงสุดจากผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั่วโลก

ในส่วนของประเทศไทย โครงการ 'อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ' ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์, ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) และภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการตัดสินผลงาน

* อาหารสดใหม่จาก Teleport Fridge

'อ๋อง' ดุลยวัต วงศ์นาวา นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับ People's Choice Award รวมทั้งรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ จากผลงานการออกแบบ Teleport Fridge หรือ 'ตู้เย็นขนย้ายมวลสาร' ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ เรื่อง 'สตาร์ เทรค' ซึ่งตัวเอกของเรื่องสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยใช้เทคนิค 'เทเลพอร์ต'

สิ่งที่ทำให้เขากวาดคะแนนโหวตจากผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากการอธิบายที่มาของแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมชิ้นนี้อย่างเป็น ระบบ โดยเขาพยากรณ์แนวโน้มของเมืองในอนาคตว่าจะมีความแออัดจากจำนวนประชากรที่ เพิ่มขึ้น การจราจรและโลจิสติกส์จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ในขณะที่แหล่งอาหารอยู่ไกลออกไป ดังนั้น หาก 'เทเลพอร์ต' เกิดขึ้นได้จริงในวันข้างหน้า ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการเลือกซื้ออาหารสดใหม่จากแหล่งผลิตทำให้ประหยัดเวลา ลดความสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง เพราะเพียงคลิกหน้าจอ ของที่สั่งซื้อก็จะมาปรากฏที่ตู้แช่

"ผมเน้นดีไซน์ให้มีส่วนโค้งเว้า โดยส่วนที่ยื่นออกมาจะเป็นส่วนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้มากที่สุด เช่นหน้าจอที่ใช้สั่งอาหาร รวมทั้งลิ้นชักที่ดึงอาหารออกมา ให้เห็นชัดว่าตรงนี้จะเป็นจุดที่ใช้งานมากที่สุด" อ๋อง ขยายความด้านดีไซน์ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เขานำความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียนมาใช้ เพื่อการดีไซน์เครื่องใช้ไฟฟ้า

* AROKA คาถาสุขภาพดีแห่งอนาคต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ เป็นของ 'เมย์' ธนารัตน์ คงสุภาศิริ กำลังทำปริญญาตรีใบที่ 2 ในคณะออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบันราฟเฟิล ดีไซน์ ด้วยผลงาน เครื่องแนะนำอาหารเพื่อสุขภาพ AROKA Healthy Menu

จากการหาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ของการประกวดครั้งนี้ทำให้ 'เมย์' ได้ย้อนกลับไปดูวิถีการกินอยู่ของคนยุคก่อนหน้า เพื่อคาดคะเนแนวโน้มในอนาคต

"สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นความเร่งรีบ กินแบบรีบๆ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ก็เลยคิดว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเรารู้ว่าร่างกายกำลังขาดสารอาหารอะไร หรือได้รับสารอาหารชนิดไหนมากเกินไปอยู่"

'เมย์' นำฟอร์มของ 'หม้อยาไทย' มาประยุกต์กับสัญญลักษณ์ Infinity เพื่อสร้างเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพ โดยผู้ใช้ต้องยืนบน 'แผ่นสแกนเท้า' เพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลก่อนแสดงในรูปแบบกราฟสุขภาพ เพื่อแนะนำอาหารที่ต้องการในแต่ละวัน และสามารถสั่งซื้ออาหารผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที

"โจทย์ของการประกวดค่อนข้างท้าทาย สุดขั้วมาก เพราะต้องใช้จินตนาการถึงอนาคตในอีกเกือบ 100 ปีข้างหน้า แต่หลังจากลองรวบรวมข้อมูลดูแล้ว คิดว่าถึงรูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร ร่างกายและความต้องการมนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม เรายังต้องกินอาหารและต้องการมีสุขภาพที่ดีเหมือนกันไม่ว่ายุคสมัยใด" เมย์ พูดถึงข้อคิดที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้

* Temp-plate ร้อน-เย็นในแผ่นเดียว

ส่วนผลงานออกแบบ 'แผ่นควบคุมอุณหภูมิ' Temp-plate ของ 'แป้ง' มุทิตา ต่อทีฆะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับประเทศ

"คิดว่าอีก 90 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าคงมีการแข่งขันกันอย่างสูง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงจนกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง"

'แป้ง' จินตนาการว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของศตวรรษหน้าอาจจะมาในรูปแบบของ 'แพกเกจจิ้ง' โดยอาศัยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิของกระดาษให้ร้อนหรือเย็นลงได้ตามต้องการ ที่จะทำให้เจ้าอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถมาทำหน้าที่แทนตู้เย็นและไมโครเวฟในคราว เดียว

 

"สมมติว่าเราซื้อพิซซ่ามาแล้วกินไม่หมด เราก็ใช้ Temp-plate ถนอมอาหารแทนตู้เย็น พอจะกินก็ปรับให้อุณหภูมิสูงเพื่ออุ่น กินหมดแล้วก็ทิ้งไปเลย" แป้งคิดว่าจุดที่ทำให้ผลงานของเธอชนะใจกรรมการ น่าจะอยู่ตรงการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งไม่ซ้ำใคร

ถามว่านอกจากรางวัลแล้ว เธอได้อะไรจากการร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้

"ได้ฝึกภาษาอังกฤษค่ะ" แป้งตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะ

"มันยากมาก เพราะปกติทำงานส่งก็เขียนเป็นภาษาไทย แต่นี่ต้องเอามาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ทำให้ได้รู้ศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิคเพิ่มขึ้นเยอะแยะเลยค่ะ" เจ้าของผลงาน Temp-plate สรุปบทเรียนที่ได้จากกิจกรรมครั้งนี้อย่างภาคภูมิใจ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook