"อับราฮัมแอคคอร์ด" ได้ผลน่าพิศวง

"อับราฮัมแอคคอร์ด" ได้ผลน่าพิศวง

"อับราฮัมแอคคอร์ด" ได้ผลน่าพิศวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวอาหรับเป็นเชื้อชาติเซมิติกเช่นเดียวกับชาวยิว จัดอยู่ในพวกคอเคเอยด์ มีตำนานที่กล่าวว่าอับราฮัมมีลูกชาย 2 คน คนโตชื่ออิสมาอีลเป็นต้นตระกูลของชาวอาหรับ คนที่ 2 ชื่อไอแซกเป็นต้นตระกูลของชาวยิว ในปัจจุบันมีประเทศอาหรับทั้งหมด 22 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย คอโมโรส จิบูตี อียิปต์ อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย มอริเตเนีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน

แม้ว่าศาสนาอิสลามจะเริ่มต้นขึ้นในคาบสมุทรอาหรับ ภาษาในคัมภีร์ของศาสนาอิสลามเป็นภาษาอาหรับ และชาวอาหรับส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ประชากรมุสลิมเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นชาวอาหรับ

ปัญหาระหว่างประเทศอิสราเอลกับชาติอาหรับทั้งหลาย เริ่มขึ้นตั้งแต่ ชาวยิวเริ่มต้นการอพยพครั้งใหญ่เพื่อเดินทางไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาตามความเชื่อของพวกยิว คือ นครเยรูซาเลมในปาเลสไตน์ เมื่อปี 2425 หลังจากที่ถูกขับไล่จากดินแดนเดิมของตนโดยจักรวรรดิโรมันใน พ.ศ. 613 มาอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วยุโรปมาอย่างยาวนาน โดยตอนนั้น ปาเลสไตน์ยังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน

ตลอดหลายปีหลังจากนั้น ชาวยิวค่อยๆ ฟื้นฟูภาษาฮิบรู ตั้งถิ่นฐาน ด้วยการซื้อที่ดินรกร้างจากชาวอาหรับ และใช้เงินทุนมหาศาลจากชาวยิวในยุโรปที่มั่งคั่งมาพัฒนาเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงและจักรวรรดิออตโตมันล่มสลาย

ขณะที่อังกฤษได้เข้ายึดครองปาเลสไตน์และพื้นที่แถบทรานส์จอร์แดน ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวยิวอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่นาซีเยอรมนีเริ่มเรืองอำนาจได้กดชี่ชาวยิวอย่างหนัก ทำให้ชาวอาหรับในปาเลสไตน์ลุกฮือประท้วงต่อต้านการปกครองของอังกฤษและผู้อพยพชาวยิวจึงมีการรบต่อสู้กันไม่หยุดหย่อนในปาเลสไตน์

อังกฤษตัดสินใจจะถอนตัวจากการปกครองปาเลสไตน์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2491 และยกให้องค์การสหประชาชาติ เป็นผู้แก้ปัญหาการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวในปาเลสไตน์

ปรากฎว่ามีประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอลในวันที่ 14 พ.ค. 2491 กลายเป็นรัฐยิวแห่งแรกของโลกในรอบ 2,000 ปี นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศอิสราเอลกับบรรดาชาติอาหรับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานับเนื่องกันเป็นเวลากว่า 70 ปีที่สงครามเป็นช่วง ๆ มาไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ดีก็มีอยู่ 6 ประเทศอาหรับจาก 22

ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอิสราเอลในขณะนี้ คือ อียิปต์มีเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเป็นประเทศแรกในปี 2522 หลังจากนั้นประธานาธิบดีอียิปต์คนที่เปิดความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็ถูกฆ่าตายอีก 2 ปีต่อมา

ในปี 2537 จอร์แดนก็เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอีกประเทศหนึ่ง ต่อมาในปี 2563 จึงมีประเทศอาหรับอีก 4 ประเทศ ได้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประเดิมด้วยข้อตกลง "อับราฮัมแอคคอร์ด" เท้าความความเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยมีบาห์เรน โมร็อกโก และซูดาน ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลตามลำดับ

ประเทศที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ คือ สหรัฐอเมริกาที่ได้พยายามชักชวนให้ประเทศอาหรับทั้ง 6 ประเทศนี้รับรองประเทศอิสราเอล ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐในอุปถัมภ์ของสหรัฐอเมริกาด้วยการเสนอผลประโยชน์ให้ประเทศทั้ง 6 ประเทศนี้อย่างจุใจ อาทิ การลบซูดานออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย และยอมความในเหตุการณ์ระเบิดโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ทั้งในแทนซาเนียและเคนยา เมื่อปี 2541 หรือตกลงที่จะขายฝูงบินรบแบบล่องหนเอฟ-35 ที่ทันสมัยที่สุดของสหรัฐฯที่ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแต่อิสราเอลเท่านั้นที่มีประจำการให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือการให้อิสราเอลคืนดินแดนทั้งหมดรวมทั้งคลองสุเอซที่อิสราเอลยึดครองจากสงคราม 6 วันให้แก่อียิปต์เป็นต้น

ในบรรดาประเทศอาหรับทั้ง 6 ประเทศนั้นมีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประเทศเดียวนั้นที่ต่อยอดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลจากข้อตกลง "อับราฮัมแอคคอร์ด" ในทางเศรษฐกิจที่เพิ่มผลประโยชน์มหาศาลให้ทั้ง 2 ประเทศโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าไปซื้อบ่อน้ำมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอิสราเอลและบริษัทแชฟรอนด้วยเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปีที่แล้วนักท่องเที่ยวยิวจำนวน 200,000 คนได้บินไปพักผ่อนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แม้ว่าในช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม

ปริมาณการค้าและการบริการระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลในปีที่แล้วมีมูลค่าถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าปริมาณการค้าและการบริการของ2 ประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลา 10 ปีเมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถส่งน้ำมันดิบผ่านอิสราเอลไปยังยุโรปได้สำเร็จ

ครับ! ความสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลทำให้หวนคิดถึงนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่สำเร็จอย่างงดงามจนกระทั่งปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook