''ชัยวุฒิ''เล็งปรับใหญ่รับตรงเข้ามหาวิทยาลัย

''ชัยวุฒิ''เล็งปรับใหญ่รับตรงเข้ามหาวิทยาลัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชี้ไม่ปรับแอดมิชชั่นทำให้รับตรงคึกคัก ทปอ.วอนมหา''ลัยอย่ารับตรงเกิน 50%

จากกรณีที่เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจะยื่นฟ้อง นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีเปลี่ยนแปลงระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ยับยั้งการใช้ระบบแอดมิชชั่นนั้น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่ทำได้ และหากมีการฟ้องร้องตนก็ต้องไปชี้แจง และคิดว่าการที่ทปอ. มีมติยืนยันให้คงองค์ประกอบและค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางหรือแอดมิชชั่น ปี2553 ไว้เหมือนเดิม รวมถึงปี 2554 ก็ให้ใช้เหมือนเดิมนั้น ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) คงได้พิจารณาดีแล้ว แต่ทปอ.ก็ต้องตอบคำถามสังคมด้วย เพราะทปอ.เคยบอกว่าจะเปลี่ยน แต่กลับตัดสินใจแบบพลิกโผก็ทำให้สังคมต้องสับสนเป็นธรรมดและจากนี้จะมีคำถามต่อไปว่าในปี 2555 จะทำอย่างไร ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเข้ามาดูแลการรับตรงมากขึ้น และจะเป็นการปรับระบบรับตรงครั้งใหญ่ โดยจะต้องนำคะแนนกิจกรรม และผลการเรียนเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ในฐานะประธานทปอ.กล่าวว่า ทปอ.กังวลเช่นกันว่าเมื่อยืนยันแอดมิชชั่นเหมือนเดิมจะทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หันไปรับตรงมากขึ้น แต่ก็อยากจะย้ำว่าทปอ.มีเหตุผลที่ต้องตัดสินใจเช่นนั้น และพร้อมรับผิดชอบกับการตัดสินใจทั้งหมด อีกทั้งแอดมิชชั่นปี 2553 ก็เพิ่งจะเริ่มใช้ ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล จึงเห็นว่ายังไม่ควรเปลี่ยนแปลงใด ๆ และหวังว่าอธิการบดีทั้ง 26 แห่งที่ตัดสินใจร่วมกันจะไปทำความเข้าใจกับคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยของตน พร้อมทั้งขอความร่วมมือว่าหากจะมีการรับตรงก็ไม่ควรเกินร้อยละ 50 และควรใช้ข้อสอบกลางเพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเดือดร้อนต้องเสียเงินค่าสอบเพิ่มและควรจัดสอบในเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนกรณีที่เครือข่ายพ่อแม่ฯ จะฟ้องตนก็สามารถฟ้องได้ตามสิทธิ ซึ่งตนก็พร้อมไปชี้แจง

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับมติทปอ.ที่ไม่ให้แยกการสอบวัดความถนัดทางวิทยาศาสตร์ หรือ PAT 2 ออกเป็นวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งการที่ทปอ.มองว่าเป็นการสร้างภาระและทำให้เด็กเครียดถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการแยกสอบจะช่วยให้เด็กสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมทั้งจะต้องมีการให้ทุนแก่นักเรียนที่จะมาเรียนสายวิทย์และมีการประกันการทำงานให้ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ต้องสังคายนาเรื่องของวิทยาศาสตร์ทั้งระบบ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook