“ตำรวจหญิง” ไม้ประดับในวงการสีกากีหรือบุคลากรชั้นดีของสังคม?

“ตำรวจหญิง” ไม้ประดับในวงการสีกากีหรือบุคลากรชั้นดีของสังคม?

“ตำรวจหญิง” ไม้ประดับในวงการสีกากีหรือบุคลากรชั้นดีของสังคม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ของตำรวจหญิง” เป็นวลีที่ถูกจุดพลุขึ้นมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลังจากที่สังคมพุ่งความสนใจไปที่ตำรวจหญิงผู้ทำหน้าที่ “ถือโทรศัพท์” ในการแถลงข่าวคดีสำคัญของวงการสีกากี แต่ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ที่ว่านี้คืออะไร และที่ผ่านมา ตำรวจหญิงมี “บทบาท” และ “โอกาส” แค่ไหนในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพของผู้ชายและเป็นพื้นที่ของ “ความเป็นชาย” อย่างเข้มข้น Sanook พูดคุยกับนายตำรวจหญิง เพื่อร่วมมองประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในวงการตำรวจไทย วงการ “คนมีสี” ที่กำลังถูกสังคมจับตามองอยู่ในขณะนี้ 

ผู้หญิงในพื้นที่ผู้ชาย ทำงานหนักเป็น 2 เท่า

“มันเป็นพื้นที่ของผู้ชาย 80 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะมีช่องให้ผู้หญิงเข้ามาทำงาน แต่การที่ผู้หญิงจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน จากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้บังคับบัญชา เราต้องทำงานหนักเป็น 2-3 เท่าของผู้ชายเลยนะ เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทต่าง ๆ แล้วก็ในเรื่ององค์ความรู้ ในเรื่องของการวางตัว ในเรื่องของการประสานงาน ทุกอย่างเลย คือพอเข้ามาอยู่ในโรงพัก มันเป็นจุดสนใจอยู่แล้วว่าจะเป็นยังไง จะไปไหวไหม จะรอดไหม คือมันมีคำพูดนี้ออกมาอยู่แล้ว” พ.ต.อ.หญิงปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 เล่าย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่เธอเริ่มเข้ามาทำงานตำรวจเมื่อ 20 ปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.หญิงปวีณาระบุว่า ปัจจุบันนี้ ตำรวจหญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น และการมีผู้หญิงเข้ามาบุกเบิกงานตำรวจ ก็ส่งผลให้ตำรวจหญิงรุ่นหลัง ๆ สามารถทำงานของตัวเองได้อย่างราบรื่นมากขึ้นเช่นกัน

“มันเหมือนกับมีรุ่นพี่มาเปิดหัวเอาไว้แล้ว พอรุ่นน้องเข้ามาก็ทำให้โรงพักมองว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร แล้วด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น มันก็ทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้แปลกแยกอะไร” พ.ต.อ.หญิงปวีณากล่าว 

แต่จำนวนที่เพิ่มมากขึ้นและการมีพื้นที่ในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นของตำรวจหญิง ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหา “การเลือกปฏิบัติ” ในวงการตำรวจลดน้อยลงเท่าไรนัก พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยา อุ้ยหา สารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรปลวกแดง จังหวัดระยอง เผยว่า ปัญหา “การดูถูก” เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว

“มันไม่ใช่แค่โรงเรียนนายร้อยตำรวจหรอก โรงเรียนอื่นก็มี เพราะสังคมเราเป็นแบบนี้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เราเดินผ่านกองร้อย พี่ ๆ เขาก็จะแกล้งเรา เรียกพวกเราว่า “ไก่” เป็นเหมือนคำที่เรียกเราไม่ดี ไหนจะสาดน้ำ ตอนไปฝึกร่ม เขาก็จะเหยียดว่าพวกเราทำไม่ได้หรอก แต่เราก็ให้ผ่าน ๆ ไป พอมาทำงาน คือเขาส่งเรามาทำงานเกี่ยวกับเพศและเด็ก เขาก็จะเหยียดว่างานเราน้อย ไม่ค่อยได้ทำงาน งานสุขสบาย” พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยาเล่า 

“ตอนนั้นเราไปงานเลี้ยง ก็มีทั้งรุ่นพี่ที่เป็นตำรวจและทหาร เขาก็มาคุยกับเรา บอกว่า ตอนนี้ไม่มีนายร้อยตำรวจหญิงแล้ว สงสัยไม่มีประสิทธิภาพ เขาจะพูดแบบนี้ ซึ่งการไม่มีนายร้อยตำรวจหญิงไม่ได้เกี่ยวกับการมีหรือไม่มีประสิทธิภาพ มันเป็นคำสั่งลงมา เราก็จะโดนดูถูกแบบนี้แหละ” เธอเสริม 

 ในปี 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกการรับผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ถือเป็นการปิดตำนานนักเรียนตำรวจหญิง ที่มีเพียง 10 รุ่น หลังจากเริ่มเปิดให้ผู้หญิงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นครั้งแรกในปี 2552 และเป็นครั้งแรกในรอบ 107 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” อย่างกว้างขวาง 

โอกาสก้าวหน้าที่น้อยกว่า 

“ตอนนี้คนที่มีอำนาจ ไม่มีใครที่เป็นผู้หญิงเลย อย่างรุ่นเราที่เป็นนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก ตอนนี้ทุกคนอยู่ในตำแหน่งสารวัตรหรือรองลงมา แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะขึ้นไปอยู่ในระดับไหน อย่างพวกพี่ ๆ ที่เป็นผู้หญิง เป็นพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว ตอนนี้เขาก็ขึ้นเป็นผู้กำกับโรงพัก คือเพิ่งจะเป็นผู้กำกับโรงพักได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทั้งที่ประเทศของเรามีตำรวจหญิงมาเนิ่นนาน แต่เขาให้โอกาสผู้หญิงเป็นผู้กำกับเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา” พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยากล่าว 

แม้ในปัจจุบัน ตำรวจหญิงจะมีโอกาสได้ขึ้นเป็น “ผู้กำกับการ” เพิ่มมากขึ้น แต่ความก้าวหน้าในอาชีพตำรวจของตำรวจหญิงเหล่านี้กลับขึ้นอยู่กับว่าพวกเธออยู่ใน “จุดไหน” ของวงการตำรวจ ซึ่งมีทั้งในส่วนของฝ่ายปฏิบัติงาน ฝ่ายธุรการ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว หรือตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น 

“สำหรับความก้าวหน้า ในสาขาปฎิบัติงานยังไม่ค่อยเปิดช่องให้กับผู้หญิง คือมันโดนข้อจำกัดในแง่ของความเป็นเพศ แต่ถ้าเกิดเป็นงานอื่น เช่น งานพิสูจน์หลักฐาน มันก็มีตำรวจผู้หญิงเยอะแยะไปหมดเลยนะ แล้วก็ระดับผู้กำกับก็มีผู้หญิงเต็มเลย หรือในระดับกรมกอง งานแอดมินฯ ในสำนักงานต่าง ๆ กองเลขา การเงิน งบประมาณ หรือในระดับสารสนเทศก็มีผู้หญิงอยู่เยอะ ก็ต้องแยกเป็นส่วน ๆ ไป แล้วอัตราการแข่งขันก็ต้องดูด้วยว่า แต่ละตำแหน่งที่เข้ามาจะมีโอกาสเจริญเติบโตก้าวหน้าขนาดไหน” พ.ต.อ.หญิงปวีณาอธิบาย 

ทั้งนี้ พ.ต.อ.หญิงปวีณาก็ยอมรับว่าไม่สามารถบอกได้ว่าตำรวจหญิงมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบตำรวจชายมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากจำนวนตำรวจหญิงมีน้อยกว่าตำรวจชายมาก

“ความก้าวหน้าจนถึงระดับผู้บริหารมันก็มีในหน่วยงานเฉพาะด้าน ในส่วนของพนักงานสอบสวน ตอนนี้ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นได้คือผู้กำกับ แต่ในส่วนอื่น ๆ เช่น ส่วนป้องกันปราบปรามก็ยังไม่มีแม้แต่สารวัตร สืบสวนก็ยังไม่มี จราจรก็ยังไม่มี ก็ยังเป็นระดับรองสารวัตรที่เป็นผู้หญิง” เธอเสริม 

ทางด้าน พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยาก็ชี้ว่า ความก้าวหน้าของตำรวจในยุคนี้ จำเป็นต้องใช้วิธี “เข้าหานาย”เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ตำรวจมากมายต้อง “ย่ำอยู่กับที่” 

“เมื่อก่อนเขาเห็นความสำคัญของตำแหน่งมาก ใครอยู่ตำแหน่งพนักงานสอบสวนจะได้เลื่อนขั้นไปตามระยะเวลาในการทำงาน จะต้องเอาสำนวนมาประเมิน เหมือนสอบเลื่อนขั้น ซึ่งมันยุติธรรมนะ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ยิ่งยากกับตำรวจที่เขาไม่ชอบวิ่งเข้าหานาย บางคนชอบทำงาน เขาจะเอาเวลาที่ไหนไปหานาย เขาก็เลยจะต้องอยู่ที่เดิม ย่ำอยู่กับที่” พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยา กล่าว 

คดีทางเพศที่ต้องใช้ความเข้าใจ

แม้ตำรวจหญิงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เทียบเท่ากับตำรวจผู้ชาย ฝึกหนักเท่า ๆ กับผู้ชาย แต่จุดประสงค์หลักข้อหนึ่งของการมีตำรวจหญิง โดยเฉพาะตำแหน่ง “พนักงานสอบสวนหญิง” คือการเข้ามาทำคดีทางเพศ ซึ่ง พ.ต.อ.หญิงปวีณาอธิบายว่า พนักงานสอบสวนหญิงรุ่นแรกเกิดขึ้นในปี 2538 ก่อนที่ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ในปี 2542 ทำให้เกิดพนักงานสอบสวนหญิงที่ดูแลคดีทางด้านเพศเพิ่มมากขึ้น

“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในสังคมบ้านเรา การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะลุกขึ้นมา ไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่มาล่วงละเมิดทางเพศเขา มันทำให้เขาค่อนข้างจะตัดสินใจได้ยาก แล้วการที่เขาต้องขึ้นไปที่โรงพัก แล้วเจอตำรวจผู้ชาย การที่เขาต้องเล่าเรื่องที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มันทำให้เขารู้สึกว่าไม่สะดวกใจ แล้วคนที่ล่วงละเมิดเขาเป็นผู้ชาย เขาก็ไปเล่าให้ผู้ชายฟังอีก มันก็เหมือนกับถูกข่มขืนซ้ำ การมีพนักงานสอบสวนหญิงที่เป็นผู้หญิงจะช่วยบรรเทาในส่วนตรงนั้นให้กับผู้หญิงได้ค่อนข้างเยอะ อีกส่วนก็คือความไว้วางใจ ความเป็นกันเอง เหมือนเป็นคนเพศเดียวกัน” พ.ต.อ.หญิงปวีณาชี้ 

เช่นเดียวกับ พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยา ที่เล่าว่า ผู้เสียหายบางคนก็รู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะเล่าให้ตำรวจผู้หญิงฟัง แต่เธอก็มองว่า ประสิทธิภาพการทำงานไม่สามารถแยกหญิงชายได้ หากแต่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลมากกว่า

“ไม่ใช่ว่าตำรวจผู้ชายจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้” พ.ต.อ.หญิงปวีณาเสริม “มันต้องปรับมุมมองของคนทุกคน มองแต่ละเพศให้มีความเท่าเทียม ไม่ได้มองข้อใดข้อหนึ่ง ต้องดูทัศนคติตรงนี้ เพราะเดี๋ยวนี้ในสังคมไทยกับสังคมโลก ไม่ได้มีแค่เพศหญิงกับเพศชายเท่านั้น แต่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ถ้าเราไม่มีแว่นในประเด็นเรื่อง Gender ถึงแม้จะเป็นผู้หญิง มันก็ทำให้การทำงานประเด็นตรงนี้ไม่ได้รับการตอบรับ หรืออาจจะซ้ำเติมผู้เสียหายอีกรอบก็ได้”

“(ความเข้าใจในเรื่องเพศ) มีน้อยมาก เพราะว่าในแต่ละหลักสูตรที่อบรมของตำรวจ พูดประเด็นนี้น้อยมาก เท่าที่รู้คือในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีแค่ประมาณ 3-4 ชั่วโมงที่พูดประเด็นเรื่อง Gender ชั่วโมงพูดที่น้อย แล้วคนเรียนจะเข้าใจหรือเปล่า ยิ่งในวงการตำรวจที่ต้องทำงานกับกลุ่มคน ซึ่งในสังคมบ้างเรามีความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเขาไม่เข้าใจประเด็นนี้ ตำรวจจึงถูกกล่าวหา เหมือนเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้เสียหายในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ” พ.ต.อ.หญิงปวีณาระบุ

ทางออกคือสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงไป ก็สร้างความกังวลเรื่องสิทธิของผู้เสียหายหญิงและเด็กในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงทำให้บทบาทของผู้หญิงในวงการตำรวจที่จะลดน้อยลงตามไปด้วย 

“ถามว่าตอนนี้มีการรับตำรวจที่เป็นผู้หญิงไหม ก็มี แต่จำนวนไม่มาก แล้วก็เหมือนอบรมให้เข้าไปเฉย ๆ ถามว่ามีผลกระทบไหม ยังไงมันก็มีผลกระทบอยู่แล้ว แล้วมันก็เป็นการลิดรอนโอกาสของเด็กผู้หญิง เด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นมาแล้วอยากเป็นตำรวจมากกว่า ถามว่าเข้าไปในโรงเรียนนั้นมันดีไหม ใครมีลูกมีหลานเราจะไม่แนะนำให้เข้าไปเรียน มันเหมือนตกนรกเลย ทั้งโดนดูถูก เหยียดหยาม ทั้งจวกเรา สารพัดที่จะทำเรา เหมือนเราไม่ใช่คน แต่ถามว่าคนที่เขาอยากจะเข้าไป เขารับได้กับระบบโซตัส มันก็เป็นสิทธิของเขา” พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยากล่าว 

เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.หญิงปวีณาที่มองว่า การยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจะไม่ส่งผลกระทบกับการคดีด้านเพศมากนัก เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการรับบุคคลภายนอกมาเป็นพนักงานสอบสวนหญิง เพื่อทดแทนนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงอยู่แล้ว แต่ถ้ามองในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ นี้เป็นการตัดโอกาสเด็กผู้หญิงที่อยากเป็นนักเรียนนายร้อยแน่นอน 

“ถามว่าในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องคดี ในส่วนของบุคลากรตรงส่วนนี้ เขาก็แก้ปัญหาด้วยการรับบุคคลภายนอกที่ไม่ต้องเข้าไปเป็นนักเรียนเหล่า ไม่ต้องเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อย แต่ต้องมีวุฒินิติศาสตร์เข้ามาทำงานตรงนี้ มันยังมีช่องทางที่จะมีคนทำงานเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ แต่ถ้าไปเทียบกับโอกาสของเด็กผู้หญิงที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ตรงนี้ถูกตัด ถูกดับฝันไปเลย” เธอชี้ 

แม้จำนวนของตำรวจหญิงจะมีน้อย แต่พวกเธอก็ยังคงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชนอยู่ภายใต้ “เงา” ของระบบที่เข้มข้นด้วยความเป็นชาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะดีกว่าการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงให้เท่ากับตำรวจชาย คือการสร้างความเข้าใจในประเด็นทางเรื่องเพศให้กับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนโดยไม่มีอคติทางเพศมาเป็นอุปสรรค รวมทั้งลดช่องว่างความก้าวหน้าของตำรวจชายหญิง และกำจัดภาพลักษณ์ “ไม้ประดับ” ของตำรวจหญิงให้หมดไป 

“เขาไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ลองทำงานในสายอื่น ๆ อย่างเต็มที่ อย่างสายป้องกันปราบปราม ฝ่ายจราจร บางทีเขายังไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่อยากเป็นหรืออยากทำจริง ๆ ได้เข้าไปลองทำดู เขาคิดว่าอาจจะเป็นเพราะประสิทธิภาพทางด้านร่างกาย คือในแง่ของสรีระ ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชายอยู่แล้ว แต่ถ้าว่ามันฝึกฝนได้ไหม มันฝึกฝนได้ ถ้าคนอยากจะเป็น” พ.ต.ต.หญิงศุภรัตติยา กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook