ตัวโน้ตในความมืด

ตัวโน้ตในความมืด

ตัวโน้ตในความมืด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : รัชดา ธราภาค

ความพิการเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่นักศึกษาตาพิการจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เธอเพิ่งคว้ารางวัลจากการแข่งขันเปียโนที่แคนาดา ด้วยหัวใจที่ไม่เคยท้อ

เด็กทุกคนมีความฝัน บางคนฝันอยากเป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือเป็นศิลปิน ฯลฯ

สำหรับ 'แป้ง' อุบลวรรณ เปียแก้ว ตั้งแต่วัยเด็ก เธอใฝ่ฝันจะเป็นนักเปียโนมืออาชีพ และวันนี้ ฝันของเธออยู่แค่เอื้อม เพราะเธอกำลังศึกษาในชั้นปีที่ 3 วิชาเอกสาขานักแสดงเปียโน ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลงานและรางวัลด้านดนตรีมากมายเป็นประกัน

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เธอเพิ่งคว้ารางวัลที่ 5 Maple prize พร้อมเงินรางวัล 300 เหรียญสหรัฐฯ จากการแข่งขัน The Second International Piano Festival in Vancouver by People with Disabilities 2009 ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 70 คนจาก 15 ประเทศ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ 'แป้ง' ได้บรรเลงเพลงที่เธอเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ด้วยตัวเองจากเพลงพื้นบ้านของ ประเทศแคนาดา

ความสำเร็จจากหลายเวทีพิสูจน์ว่า 'ความพิการ' ไม่เป็นอุปสรรคต่อความมุมานะที่จะก้าวไปสู่จุดหมายของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

เปียโน: เครื่องดนตรีในดวงใจ

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว 'แป้ง' เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง โลกที่น่าจะสดใสของหนูน้อยตัวจิ๋วซึ่งคลอดก่อนกำหนดเกือบ 3 เดือนกลายเป็นอาณาจักรแห่งความมืดมิด เพราะประสาทตาของเธอถูกทำลายยับจากออกซิเจนในตู้อบใสๆ ใบนั้น

ก่อนจะเข้าชั้นเรียนพร้อมเพื่อนๆ ได้ 'แป้ง' ต้องรับบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และสำหรับผู้พิการสายตา ทักษะสัมผัสเป็นสิ่งจำเป็น คุณแม่จึงตัดสินใจให้ลูกสาวเริ่มเรียนเปียโนตอนอายุ 4 ขวบ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมือ และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เธอหลงเสน่ห์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้ และตั้งใจเรียน รวมทั้งฝึกฝนอย่างต่อเนื่องตลอดสิบกว่าปี

แม้จะมีโอกาสได้เรียนรู้เครื่องดนตรีหลากหลายชนิด แต่ 'แป้ง' ก็ปักใจกับเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตอยู่ดี

"เรียนร้องโอเปร่า ขลุ่ย ซอด้วง ดนตรีไทยแป้งก็ชอบเพราะมีเอกลักษณ์ แต่ที่ชอบเปียโนที่สุด เพราะชอบเสียง และเปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นมิตร เล่นได้กับเครื่องดนตรีหลายอย่างทั้งไทยและสากล รวมทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านทุกชนิด"

ชีวิตสดใสในโลกมืดมิด

การเรียนในหลักสูตรสามัญ 'แป้ง' เรียนร่วมกับเพื่อนปกติมาตลอด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสาธิตอนุบาลลอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ชั้นประถมศึกษา และมัธยมต้น ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ก่อนจะมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยก่อนจะเข้าชั้นเรียน อาจารย์จะจัดเตรียมแบบเรียนให้ล่วงหน้าเพื่อ 'แป้ง' จะนำไปแปลงเป็นอักษรเบรลล์ ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

เทคโนโลยีสำหรับคนพิการที่ก้าวหน้ามีโปรแกรมที่ช่วยให้นักเรียนตาบอด อย่าง 'แป้ง' สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล รวมไปถึงการใช้เครื่องมือสื่อสารของคนรุ่นใหม่อย่าง MSN Messenger, Facebook หรือ hi5 เธอก็สามารถเข้าถึงได้ไม่แตกต่างจากเพื่อนๆ

'แป้ง' ยอมรับว่าความพิการทำให้เธอต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างและต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพื่อนๆ อยู่บ้าง

"เวลาอ่านโน้ตเบรลล์จะยากมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นตัวโน้ตที่ซับซ้อนมีคอร์ตเยอะๆ ต้องเล่นพร้อมกัน แป้งจะอ่านได้ช้ามาก ส่วนมากให้เพื่อนๆ หรืออาจารย์ช่วยเล่นให้ช้าๆ แล้วก็บอกด้วยว่าตรงไหนใช้นิ้วอะไร แป้งจะอัดเสียงกลับมาเปิดฟังที่บ้าน หรือถ้าต้องเล่นสองมือ แป้งก็อ่านโน้ตไม่ได้ นักดนตรีส่วนใหญ่จะซ้อมก่อนอยู่แล้ว แต่เพื่อความแน่ใจ เวลาเล่นจริง เขาก็เอาโน้ตวางไว้เหลือบมองได้นิดหน่อย แต่ของแป้งต้องจำเพลงทั้งหมดเลยน่ะค่ะ"

แต่ถ้าถาม 'แป้ง' ว่าความพิการเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และการใช้ชีวิต รวมทั้งความใฝ่ฝันในอนาคตหรือไม่ ?

"ไม่นะค่ะ มันมีสิ่งที่มาทดแทน อย่างทักษะการได้ยินและสมาธิ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเล่นดนตรีมาก การเล่นเพลงที่ยาก บางครั้งต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติ แต่พอพยายามแล้วก็ทำได้สำเร็จทุกครั้ง"

OOO

สำหรับอนาคต 'แป้ง' อยากทำงานตามสาขาวิชาความรู้ที่เรียนมา เธออยากเป็นนักแสดงเปียโน เป็นครูสอนเปียโน หรืออาจเป็นนักแต่งเพลง รวมทั้งหวังว่าจะมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด ของดนตรีคลาสสิก และเธอฝันจะเดินบนถนนสายดนนตรีไปจนตลอดชีวิต ดนตรีเป็นชีวิตจิตใจของ 'แป้ง' เธอซ้อมเปียโนทุกวันๆ ละ 10 ชั่วโมง

"การเล่นดนตรีทำให้มีสมาธิ มีจิตใจที่ดี ใจเย็น ทำอะไรรอบคอบขึ้น เอาไปใช้กับการเรียนซึ่งต้องใช้สมาธิได้ แล้วก็ยังช่วยให้ผ่อนคลาย เวลาเล่นดนตรี แป้งมีความสุข ถ้าเล่นแล้วคนฟังมีความสุข แป้งก็มีความสุขมากขึ้นอีก"

หากขาดครอบครัวและคนรอบข้างที่คอยเป็นกำลังใจ หรือไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานต่างๆ วันนี้ สังคมไทยอาจเสียโอกาสในการมีนักเปียโนฝีมือดีที่มาสร้างชื่อเสียง และความภาคภูมิใจให้ประเทศชาติไปอีกหนึ่งคน (เป็นอย่างน้อย)

* ผลงานและรางวัลด้านดนตรีของ 'แป้ง'

ปี 2543 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขัน AMAB piano Festival & Competition 2001

ปี 2544 และ 2546 รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากการประกวดดนตรีเยาวชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 7 ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ตามลำดับ)

ปี 2548 เล่นเปียโนเนื่องจากทำคะแนนสอบได้สูงสุด ในงาน High Scorers Concert จัดโดย Associated Board of the Royal School of Music

ปี 2549 ได้ร่วมแข่งขันเปียโน The 7th Osaka International Music Competition ที่ประเทศญี่ปุ่น

ปี 2551 ได้รับรางวัล Nocturne Prize จากการแข่งขัน The Eight Bangkok Chopin Piano Competition 2008

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook