องค์การเภสัชฯ ชะลอทำสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด หลังสังคมสงสัยได้ยี่ห้อที่มะกันระงับใช้

องค์การเภสัชฯ ชะลอทำสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด หลังสังคมสงสัยได้ยี่ห้อที่มะกันระงับใช้

องค์การเภสัชฯ ชะลอทำสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด หลังสังคมสงสัยได้ยี่ห้อที่มะกันระงับใช้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตัดสินใจชะลอการทำสัญญาสั่งซื้อชุดตรวจโควิดแบบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดออกไปก่อน หลังถูกหลายฝ่ายติงว่ายี่ห้อที่ผ่านการพิจารณาเคยเจอ อย.สหรัฐฯ ระงับใช้งานมาก่อน

วันนี้ (12 ส.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และตามคุณสมบัติที่ โรงพยาบาลราชวิถี และ สปสช. ต้องการ

โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำการคัดเลือกผู้เสนอราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

แต่ปรากฏว่าบางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนรวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า องค์การฯ จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน โดยองค์การฯ และ อย. จะเร่งทำการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจชะลอการทำสัญญาจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากหลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิภาพของยี่ห้อที่บริษัทซึ่งชนะการเสนอราคาจะนำเข้ามานั้น เป็นสินค้าที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) สั่งระงับใช้งานมาก่อนหน้านี้

โดยหนึ่งในองค์กรที่ออกมาแสดงความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการจัดซื้อ ATK ดังกล่าว คือ ชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งออกแถลงการณ์ เรื่อง “องค์การเภสัชกรรมต้องจัดหา ATK ที่มีคุณภาพมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” แถลงโดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีเนื้อหาดังนี้

"เดิมการวินิจฉัยการติดเชื้อโควิดได้ผูกติดกับการตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แต่มีข้อจำกัดในการใช้เวลาในการตรวจนานและมีห้องปฏิบัติการที่ทำได้น้อยแห่ง มีความล่าช้าในการออกผล RT-PCR ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาราว 2 วัน ทำให้การรักษาเริ่มได้ช้า เมื่อรักษาช้าก็ทำให้ผู้ป่วยที่ป่วยหนักหรือเสียชีวิตมีมากขึ้น

ต่อมาชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอการใช้ ATK (Antigen Test Kit) ที่ตรวจแล้วทราบผลได้ทันทีในปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง แต่ทั้งนี้ต้องใช้ ATK ที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อผลที่แม่นยำ สร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอผล RT-PCR

การที่องค์การเภสัชกรรมทำการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้นให้กับ สปสช.เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลแจกจ่ายกับประชาชนนั้นน่าดีใจ แต่ผลการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลนั้นมีปัญหา เพราะองค์การเภสัชกรรมใช้เกณฑ์ราคาถูกที่สุดเป็นตัวตัดสิน โดยไม่ได้ใส่ใจในการคัดเลือก ATK ที่มีคุณภาพสูง

ทั้งนี้ ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประมูลนั้นได้ถูกเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ให้ระงับใช้ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology เพราะให้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ

ชมรมแพทย์ชนบทขอยืนยันว่า ชุดตรวจ ATK คือหัวใจของการควบคุมโรคโควิด ATK ต้องมีคุณภาพสูง ต้องมีความแม่นยำ ความจำเพาะและมีความไวตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน อย.ไทย) หากใช้ ATK ที่ไม่แม่นยำ ย่อมต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีก จะเสียโอกาสของผู้ป่วยในการรักษาเร็ว อีกทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR เพิ่มเติมอีกด้วย

ดังนั้น การประกาศผู้ชนะการประมูลขององค์การเภสัชกรรม ที่ได้ ATK ยี่ห้อที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นยี่ห้อที่มีข้อกังขาเรื่องความแม่นยำมากที่สุด จะทำให้การควบคุมโรคโควิดที่วิกฤตหนักมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกโดยใช่เหตุ

ชมรมแพทย์ชนบทขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบและสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมยุติการลงนามในสัญญาการจัดซื้อครั้งนี้ และกำหนดมาตรฐานชุดตรวจ ATK ที่จะขายในประเทศไทยให้ต้องมีคุณภาพสูงระดับที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

ทหารต้องการรถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำที่มีคุณภาพสูงเพื่อสู้ภัยผู้รุกรานฉันใด วงการแพทย์ก็ต้องการชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานสูงในระดับองค์การอนามัยโลกรับรองเพื่อสู้ภัยโควิดฉันนั้น"

rural-doctors-statement-12082

ในขณะที่ เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค

โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา องค์การฯ ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคาปรากฏว่า บริษัท ออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาชุดตรวจ ATK เหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีบริษัทจำนวนมากเข้าร่วมเสนอราคา และสามารถส่งมอบได้ตามเวลาที่กำหนดเกือบทุกบริษัท การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม และยังทำให้ทราบว่าราคาของ ATK ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ยังสามารถปรับลดลงได้อีก เพื่อบริการประชาชนในช่วงวิกฤติและยากลำบาก

สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไปนั้น รอง ผอ.อภ. ระบุว่า จะนำรายละเอียดเสนอให้โรงพยาบาลราชวิถี คณะทำงานกำกับติดตามการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ในหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมพิจารณา และเร่งดำเนินการทำสัญญาเพื่อให้สามารถส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ สปสช.กำหนด ให้ทันต่อความจำเป็นเร่งด่วนของ สปสช. ในสถานการณ์การระบาดช่วง New High นี้ต่อไป

“การดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ครั้งนี้ องค์การฯ ดำเนินการภายใต้หลักการของความถูกต้อง โปร่งใส แต่ยังคงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ความต้องการที่เร่งด่วน ประหยัดงบประมาณให้รัฐ และมีการประสานงานกับโรงพยาบาลราชวิถี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้ประชาชน และประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด” รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook