สมาคมประสาทวิทยาฯ แนะผู้ป่วย "ไมเกรน" ไม่ควรหยุดยาเพื่อฉีดวัคซีนโควิด

สมาคมประสาทวิทยาฯ แนะผู้ป่วย "ไมเกรน" ไม่ควรหยุดยาเพื่อฉีดวัคซีนโควิด

สมาคมประสาทวิทยาฯ แนะผู้ป่วย "ไมเกรน" ไม่ควรหยุดยาเพื่อฉีดวัคซีนโควิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย แนะผู้ป่วยไมเกรนฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ต้องหยุดยา เผยกรณีศึกษาไม่พบวัคซีนทำให้หลอดเลือดสมองตีบ ชี้หยุดยาเกิดผลเสียมากกว่า  

(7 มิ.ย.64) สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ออกมาให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยไมเกรนที่มีอยู่กว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ หลังก่อนหน้านี้เกิดความกังวลถึงผลข้างเคียงในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยารักษาอาการปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ ต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของซิโนแวค ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการหลอดเลือดสมองตีบจนนำไปสู่อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต จนทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีน

ในวันนี้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ออกประกาศที่มีเนื้อหาสำคัญว่า เนื่องจากมีรายงานผลของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว เช่น อาการชา หรือ อาการอ่อนแรง แต่จากการรวบรวมกรณีศึกษาต่าง ๆ ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติจากการตรวจเอ็กชเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Brain) และการตรวจหลอดเลือดในสมอง (MRA หรือ CTA) อย่างชัดเจน

แต่อาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัดชีน ซึ่งเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิดและเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

จากข้อมูลในปัจจุบันจึงแนะนำเรื่องการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนว่า “ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน” เช่น ยากลุ่ม acetaminophen ยากลุ่ม NSAIDs ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และ คาเฟอีน หรือ ยาในกลุ่มทริปแทน หรือ ยาป้องกันไมเกรนชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น  Amitriptyline , Venlafaxine ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine ยาในกลุ่มด้านเบต้า เช่น Propranolol และ ยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่นๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด -19 และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญโรคปวดศีรษะและสมอง หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเกิดผลกระทบหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะซิโนแวคว่าทำให้เกิดอาการอำพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดหดตัว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาทั่วประเทศ ได้รวบรวมกรณีศึกษาที่มีการตรวจเอ็กชเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หรือ MRI Brain และ การฉีดสีตรวจหลอดเลือดในสมอง พบว่าไม่มีการหดตัวของเส้นเลือดหรือพบความผิดปกติของการอุดตันของเส้นเลือดในสมอง นอกจากนี้ยังมีการตรวจการทำงานของสมอง พบว่าหลังฉีดวัคซีน การทำงานของสมองมีการทำงานผิดปกติชั่วคราว ซึ่งเป็นการตอบสนองของวัคซีนทุกชนิดและส่วนใหญ่อาการจะหายเองจนหายสนิท 

เกือบสองเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย มรีการหารือในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศ ทั้ง แพทย์ประสาท และ แพทย์สาขาอื่น ๆ จากโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศกว่า 200 คน มีการรวบรวมกรณีศึกษาในประเทศจำนวนมากในกลุ่มที่มีอาการชา อ่อนแรงชั่วคราว รวมทั้งศึกษาจากรายงานของต่างประเทศ พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคไมเกรนและไม่มีความสัมพันธ์ต่อการกินยารักษาหรือยาป้องกันไมเกรน

ทางสมาคมเห็นว่าการสื่อสารข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง หากขาดยาจะเกิดปัญหาปวดหัวมากขึ้น บางคนกินยาทุกวัน หากหยุดยาเฉียบพลัน นอกจากปวดหัวมากขึ้น อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันต่ำ จึงแนะนำผู้ป่วยไมเกรนที่ใช้ยาแก้ปวด หรือ ยาป้องกันไมเกรนเป็นประจำ ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดหรือยาป้องกันไมเกรน ในระหว่าง ก่อน หรือ หลังฉีดวัคซีน เพราะการหยุดอาจมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอาจทำให้ปวดหัวจนฉีดวัคซีนไม่ได้

 

      

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook