เยอรมนีพบผู้ป่วย “โควิดระยะยาว” กว่า 3.5 แสนราย อาการไม่หนักแต่เรื้อรัง

เยอรมนีพบผู้ป่วย “โควิดระยะยาว” กว่า 3.5 แสนราย อาการไม่หนักแต่เรื้อรัง

เยอรมนีพบผู้ป่วย “โควิดระยะยาว” กว่า 3.5 แสนราย อาการไม่หนักแต่เรื้อรัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เยอรมนีพบผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง 3.5 แสนราย มีอาการระยะยาว ปวดศีรษะซ้ำๆ เหนื่อยล้า และหายใจลำบาก หวั่นกระทบระบบสาธารณสุข

นายอันยา คาร์ลิกเชก รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวิจัยของเยอรมนี เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เยอรมนีตรวจพบประชาชนราว 350,000 คน ที่ประสบภาวะ โควิดระยะยาว หรือ long COVID ซึ่งหมายถึงการมีอาการเรื้อรังระยะยาวหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19

นายคาร์ลิกเชกระบุว่า อันตรายเกี่ยวกับโควิดระยะยาวนั้นคือ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยหนัก โดยอาจพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง หรืออาการเล็กน้อย

ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 10 ของประชากรในเยอรมนีต้องต่อสู้กับผลกระทบระยะยาวหลังติดเชื้อไวรัสที่คงอยู่นานกว่า 3 เดือน

นายคาร์ลิกเชกกล่าวว่า อาการของภาวะดังกล่าวแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และมีอาการประมาณ 50 ชนิด ที่เชื่อมโยงกับโควิดระยะยาว โดยการปวดศีรษะซ้ำๆ เหนื่อยล้า และหายใจลำบากเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ส่วนใหญ่

นายคาร์ลิกเชกประกาศโครงการระดมทุนใหม่สำหรับการวิจัยภาวะโควิดเรื้อรังเพิ่มเติม ซึ่งขั้นต้นมีเงินทุนรวม 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) โดยผลลัพธ์ที่ได้จะปูทางสู่การวิจัยและจัดสรรทุนเพิ่มเติม

“ภาวะโควิดเรื้อรังจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบการดูแลสุขภาพของเรา เรากำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ และยังเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอีกด้วย” 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เยอรมนีได้จัดตั้งเครือข่ายการวิจัยใหม่สำหรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยกระทรวงได้สนับสนุนเครือข่ายดังกล่าวด้วยเงินทุน 150 ล้านยูโร (ราว 5.7 พันล้านบาท) จนถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ สถาบันโรแบร์ตค็อก (RKI) ระบุว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมเกือบ 3.7 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 88,442 ราย เมื่อนับถึงวันจันทร์ (31 พ.ค.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook