กยศ.แจงปม "ตา-ยาย" ถูกไล่ที่ หลังลูกชายที่เป็นผู้กู้ยืมหนีหาย จำเป็นต้องยึดทรัพย์

กยศ.แจงปม "ตา-ยาย" ถูกไล่ที่ หลังลูกชายที่เป็นผู้กู้ยืมหนีหาย จำเป็นต้องยึดทรัพย์

กยศ.แจงปม "ตา-ยาย" ถูกไล่ที่ หลังลูกชายที่เป็นผู้กู้ยืมหนีหาย จำเป็นต้องยึดทรัพย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กยศ.ชี้แจงกรณีตา-ยายจังหวัดกำแพงเพชรถูกไล่ที่ หลังลูกชายที่เป็นผู้กู้ยืมหนีหายจากบ้าน ยืนยันจำเป็นต้องยึดทรัพย์บังคับคดีก่อนที่คดีจะขาดอายุความ ย้ำที่ผ่านมาพยายามติดต่อผู้กู้ยืม-ผู้ค้ำประกันและได้ดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีข่าวคุณตาคุณยายจังหวัดกำแพงเพชร ได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนเพื่อขอให้เป็นสื่อกลางในการตามหาลูกชายที่ออกจากบ้านไปหาเงินมาใช้หนี้กองทุน จนมีหนังสือจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดกำแพงเพชร ประกาศยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด จนกระทั่งผู้ที่ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้มาเสนอขายที่คืนนั้น

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว กองทุนได้ตรวจสอบสถานะของผู้กู้ยืมรายนี้แล้ว พบว่า ผู้กู้ยืมได้ทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ปีการศึกษา 2540 - 2545 รวมเป็นเงินต้นทั้งสิ้น 132,010 บาท

ผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้จนถูกดำเนินคดีในปี 2553 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆละ 1,500 บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 9 ปี ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น รวมเป็นเงิน 3,000 บาท จนระยะเวลาล่วงเลยใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดี

กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องยึดทรัพย์บังคับคดีและพบว่าผู้กู้ยืมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ดินดังกล่าวยังติดจำนองอยู่กับสถาบันการเงินอื่น โดยภายหลังการยึดทรัพย์ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดกำแพงเพชรได้ประกาศขายทอดตลาด 4 นัด ระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. 2563 โดยมีผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 402,000 บาท

กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้โอกาสทางการศึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กู้ยืมเงินที่ขาดโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนที่จะมีการบังคับคดี กองทุนพยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันและได้ดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด

จนในที่สุดกองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้กู้ยืมก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

ทั้งนี้ กองทุนขอแสดงความเห็นใจคุณตาและคุณยาย และพร้อมที่จะหาแนวทางให้ความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง รวมถึงจะดำเนินการติดตามผู้กู้ยืมให้กลับมาแสดงความรับผิดชอบต่อไป

"กองทุนขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกันหรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาและญาติพี่น้อง จึงขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านตระหนักถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป" ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook