ตำรวจแจง 10 ขั้นตอนควบคุมฝูงชน เน้นเจรจา-ยึดหลักกฎหมาย เมื่อไม่ได้ผลถึงใช้กำลัง

ตำรวจแจง 10 ขั้นตอนควบคุมฝูงชน เน้นเจรจา-ยึดหลักกฎหมาย เมื่อไม่ได้ผลถึงใช้กำลัง

ตำรวจแจง 10 ขั้นตอนควบคุมฝูงชน เน้นเจรจา-ยึดหลักกฎหมาย เมื่อไม่ได้ผลถึงใช้กำลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพจตำรวจ เปิด 10 ขั้นตอนควบคุมฝูงชน เน้นเจรจา หากไม่เป็นผลถึงใช้กำลัง ยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย-หลักสากล

เพจเฟซบุ๊กสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดขั้นตอนการควบคุมฝูงชน โดยระบุว่า เน้นการเจรจาและชี้แจง "ก่อน" หากไม่เป็นผลจะพิจารณาปฏิบัติและใช้เครื่องมือตามสถานการณ์

ขอย้ำ “ไม่จำเป็น” ต้องเรียงลำดับการปฏิบัติหรือใช้เครื่องมือ จาก 1 ไปหา 10 การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น โดยปฏิบัติตามหลักความเหมาะสม ได้สัดส่วนของเหตุการณ์ ยึดหลักความ ถูกต้องตามกฎหมาย หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญจะปฏิบัติโดยมุ่งหวังที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม

ลำดับการปฏิบัติหรือใช้เครื่องมือ จาก 1 ไปหา 10 มีดังนี้

  • ใช้เครื่องกระจายเสียง เพื่อแจ้งเตือนผู้ชุมนุม พร้อมๆ กับการเจรจาต่อรอง

police-control-crowd-1

  • ใช้โล่ดัน ในกรณีหากผู้ชุมนุมจะบุกรุกเข้ามา

  • ใช้น้ำฉีด ควบคุมฝูงชน เพื่อยับยั้งความรุนแรง

  • ใช้เครื่องกระจายเสียงระดับสูง (ทำให้หูดับ) เพื่อจะใช้เตือนผู้ชุมนุม ไม่ให้เข้าใกล้พื้นที่ต้องห้าม

  • ใช้แก๊สน้ำตา เมื่อการเจรจาชี้แจงไม่เป็นผล

  • ใช้กระบอง กรณีไม่สามารถทำให้ฝูงชนรวมตัวอย่างสงบได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้กระบอง

  • ใช้กระสุนยาง (สถานการณ์จำเป็น) จนเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ หรือผู้อื่น ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

  • เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือปฐมพยาบาล (เพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ)

  • เตรียมเส้นทางเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด

รอง ผบช.น. ยอมรับมีนักข่าวถูกจับ-ถูกยิงกระสุนยาง เพราะแยกไม่ออกจากผู้ชุมนุม แนะลงทะเบียนรับปลอกแขนจากตำรวจนครบาล

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่เข้ามาทุบทำลายทรัพย์สินราชการ อาคาร สถานีตำรวจนครบาลดินแดง จนได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า ได้ติดตามผลการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น 3 ส่วน

คือ การจับกุมผู้ชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หลายสิบราย และการทำลายทรัพย์สินที่สถานีตำรวจนครบาลดินแดง พบว่ามีรถกระบะ รถจักรยานยนต์ของราชการ รวมถึงตัวอาคาร ได้รับความเสียหาย โดยรถยนต์ถูกเผาจนใช้การไม่ได้ และยังมีทรัพย์สินเอกชนและประชาชนโดยรอบได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบผู้กระทำผิด ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ซึ่งสาธารณะประโยชน์ รวมถึงเรื่องการทำร้ายร่างกายสารวัตรสืบสวน สน.ดินแดงที่สืบสวนหาข่าวในถนนวิภาวดี ต้องแยกอีกสำนวน กำลังตรวจสอบหาผู้กระทำผิด

รอง ผบช.น. กล่าวว่า ยังมีชาวเมียนมาหลายคนที่ขึ้นรถขยายเสียงมาร่วมชุมนุมด้วย กำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและจะดำเนินคดีด้วย หากในอนาคตจะมาชุมนุมร่วมกับชาวไทย ต้องยอมรับสภาพการถูกดำเนินคดี

ส่วนกรณีตำรวจเข้าควบคุมตัวนักข่าวสำนักหนึ่งนั้น เนื่องจากขณะนั้นตำรวจไม่สามารถแยกแยะจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ หากไม่มีการแสดงตัวหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์สื่อมวลชนที่ชัดเจน หากพิสูจน์ตัวบุคคลและมีหลักฐานระบุตัวตนว่าเป็นสื่อมวลชนจริง พนักงานสอบสวนจะสั่งไม่ฟ้อง

และกรณีมีนักข่าวถูกกระสุนยางยิงใส่นั้น ตำรวจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือสื่อมวลชน ม็อบ หรือกลุ่มแพทย์อาสา จึงขอความร่วมมือสื่อที่เข้าติดตามเหตุการณ์ ให้ลงทะเบียนเพื่อรับปลอกแขนสื่อมวลชน ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตำรวจนครบาล ซึ่งสัญลักษณ์ปลอกแขนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมจะสามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร หากคนกลุ่มนี้ถูกลูกหลงก็จะได้รับการเยียวยา

นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจภรรยา ร.ต.อ. เสียชีวิตในม็อบ 28 กุมภา – บช.น. เสนอเลื่อน 3 ชั้นยศ 3 ขั้นเงินเดือน

ที่ สน.ธรรมศาลา นางสาวรัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ภรรยาของ พล.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนางกชกาญจน เทพอาษา ภรรยาร้อยตำรวจเอกวิวัฒน์ สินเสริฐ ตำรวจ สน.ธรรมศาลา ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา 

นางกชกาญจน ระบุว่า สามีเป็นคนจริงจังต่อการปฏิบัติหน้าที่และทำงานหนักมาก ไม่เคยไปสาย ทำงานตลอดเวลาและไม่ค่อยลาหยุดงาน โดยเมื่อ 4 เดือนก่อน ตนก็สังเกตเห็นอาการความผิดปกติของสามี และเคยเตือนให้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล แต่สามีก็ไม่ยอมไป อ้างเหตุผลติดภารกิจที่ต้องดูแลการชุมนุม จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาจากหลายส่วน ทั้งจากสหกรณ์ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เงินค่าฌาปนกิจศพ และเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ มีการปูนบำเหน็จ 3 ชั้นยศ เลื่อน 3 ขั้นเงินเดือน รวมเงินเยียวยาที่จะมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 2,740,000 บาท และสิทธิในการรับทายาทเข้าบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ พร้อมกันนี้ยังได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในการประกอบพิธีทางศาสนาด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook