หญิงอเมริกันเสียชีวิตหลังได้รับการปลูกถ่ายปอดที่ติดเชื้อโควิด-19

หญิงอเมริกันเสียชีวิตหลังได้รับการปลูกถ่ายปอดที่ติดเชื้อโควิด-19

หญิงอเมริกันเสียชีวิตหลังได้รับการปลูกถ่ายปอดที่ติดเชื้อโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Transplantation ระบุว่า หญิงชาวอเมริกันจากรัฐมิชิแกน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสียชีวิตจากการปลูกถ่ายปอดที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 แม้ว่าผู้ที่บริจาคอวัยวะจะมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบและไม่ได้แสดงอาการป่วย นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายแรกที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากการปลูกถ่ายอวัยวะ

ดร.แดเนียล โคล ผู้อำนวยการศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะจากโรคติดเชื้อของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า จะไม่มีการปลูกถ่ายปอดที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยอย่างแน่นอน และได้มีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคในทุกขั้นตอนแล้ว

ปอดที่นำมาปลูกถ่ายนั้นมาจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการกระทบกระเทือนทางสมองจากอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งได้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาจากตัวอย่างที่เก็บจากลำคอและจมูกของหญิงผู้นี้ และพบว่ามีผลเป็นลบ นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้ที่บริจาคอวัยวะผู้นี้ยังให้ข้อมูลกับแพทย์ว่า เธอไม่ได้เดินทางไปยังต่างพื้นที่ ไม่ได้มีไข้ ไอ ปวดหัว หรือท้องเสียแต่อย่างใด ทว่าก็ยังไม่ทราบว่าเธอมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่อาจจะติดเชื้อหรือไม่

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดเป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแอนน์ อาร์เบอร์ โดยมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ในช่วงหลายชั่วโมงก่อนที่จะเข้ารับการปลูกถ่ายปอด ทว่า 3 วันหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้นสูง ความดันโลหิตต่ำ และมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แพทย์ได้ตัดสินใจตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังจากที่เธอมีภาวะช็อกจากการติดเชื้อและปัญหาการทำงานของหัวใจ และพบว่าเธอติดเชื้อโควิด-19

อาการของผู้ป่วยรายนี้แย่ลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทั้งระบบการทำงานของอวัยวะล้มเหลวและหายใจลำบาก แม้ว่าจะรักษาด้วยยาเรมเดซิเวียร์และพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน แต่ก็ไม่ช่วยให้อาการทุเลาลง และเสียชีวิตลง หลังจากการปลูกถ่ายปอดเป็นเวลา 2 เดือน

ด้านแพทย์เรียกร้องให้มีการตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดกว่าเดิมก่อนที่จะบริจาคอวัยวะ รวมทั้งขอให้บุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะสวมหน้ากาก N95 และเครื่องป้องกันดวงตาขณะปฏิบัติงาน แม้ว่าผู้บริจาคอวัยวะและผู้ที่รับบริจาคจะมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook