"ซิโนวัค" โร่แจง เหตุใดทดสอบวัคซีนแล้ว ประสิทธิภาพแค่ 50 เปอร์เซ็นต์

"ซิโนวัค" โร่แจง เหตุใดทดสอบวัคซีนแล้ว ประสิทธิภาพแค่ 50 เปอร์เซ็นต์

"ซิโนวัค" โร่แจง เหตุใดทดสอบวัคซีนแล้ว ประสิทธิภาพแค่ 50 เปอร์เซ็นต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บริษัทเจ้าของโคโรนาวัค อธิบายผลการทดสอบวัคซีนในบราซิล หลังมีรายงานประสิทธิภาพ "คาบเส้น" เกณฑ์มาตรฐาน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า "ซิโนวัค ไบโอเทค" บริษัทเวชภัณฑ์ของจีน ผู้ผลิตวัคซีนโคโรนาวัค ออกมาอธิบายในประเด็นว่า เหตุใดประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการทดสอบระยะที่ 3 ทั้งในบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ถึงมีรายงานประสิทธิภาพไม่สอดคล้องกัน หลังจากก่อนหน้านี้ สถาบันชีวการแพทย์บูตันตันของบราซิลแถลงว่า ซิโนวัคมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดที่ราว 50.4% เกินมาตรฐานการอนุมัติวัคซีนเพียงเล็กน้อย สวนทางกับตุรกีที่รายงานประสิทธิภาพวัคซีนว่ามีประสิทธิภาพราว 90% ขณะที่อินโดนีเซียประกาศประสิทธิภาพราว 65%

ซิโนวัคอธิบายว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับการเว้นระยะในการฉีดระหว่างโดสแรกกับโดสที่สอง โดยหากเว้นระยะระหว่างเข็มแรกกับเข็มสอง วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซิโนวัคระบุว่า อาสาสมัครเกือบ 1,400 คน จากทั้งหมด 13,000 คนที่เข้าร่วมการทดลองวัคซีนกับบริษัทนั้นได้รับวัคซีน 2 โดสในระยะห่าง 3 สัปดาห์ แต่การทดสอบในอาสาสมัครของบราซิลได้รับวัคซีนทั้งสองเข็ม ทิ้งห่างเพียง 2 สัปดาห์ ผลการทดสอบประสิทธิภาพจึงอยู่ที่ราว 50.4% ตามรายงานในก่อนหน้านี้ 

 

บริษัทยาของจีนยังชี้แจงอีกว่า ในการทดสอบที่บราซิลซึ่งมีจำนวนอาสาสมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มใหญ่นั้น ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นตัวแปรที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำกว่าการทดสอบในพื้นทีอื่นๆ หากเทียบกับอินโดนีเซีย หรือตุรกี โดยซิโนวัคกล่าวอีกว่า วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องบุคลากรการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอีกราว 20% หากทิ้งระยะห่างทั้งสองโดสที่ราว 21 - 28 วัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทดลองในบราซิล แต่ยังไม่อาจสรุปประสิทธิภาพของการทดสอบในตุรกีซึ่งมีผลที่ 90% และอินโดนีเซียที่ 65% ได้ เนื่องจากทดสอบในอาสาสมัครจำนวนน้อยเกินไปและมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่น้อยเกินไปเช่นกัน

ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกและสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่า วัคซีนทุกชนิดต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 50% ถึงสามารถอนุมัติใช้ได้ ซึ่งถึงแม้วัคซีนโคโรนาวัค จะยังคงมีข้อมูลประสิทธิภาพที่สับสน แต่อินโดนีเซีย และบราซิลได้อนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับชิลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนซิโนวัคเพื่อแจกจ่ายให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook