“อุ้มหาย” เครื่องมือสร้างความกลัวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

“อุ้มหาย” เครื่องมือสร้างความกลัวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

“อุ้มหาย” เครื่องมือสร้างความกลัวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การ “อุ้มหาย” ถือเป็นกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่มีกรณีอุ้มหายเกิดขึ้นหลายครั้งเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี แต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งสมาชิก “การ์ดราษฎร” ที่เข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ถูกกลุ่มบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวขึ้นรถในช่วงกลางดึก พร้อมยึดโทรศัพท์ ข่มขู่ และบังคับให้เซ็นเอกสารบางอย่าง ก่อนจะนำตัวมาปล่อยไว้ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เรื่องราวของเขาถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย และหลังจากนั้น ประเด็นเรื่องการอุ้มหายก็กลับมาอยู่ในสปอตไลต์ของสังคมอีกครั้ง

“อุ้มหาย” คืออะไร

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ให้คำนิยามไว้ว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” (Enforced Disappearance) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” หมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่ง สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล โดยพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ การอุ้มหายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ดังนั้น ผู้ที่จะตกเป็นเป้าหมายของการอุ้มหาย จึงมักจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ญาติของเหยื่อ พยาน ทนายความ หรือคนในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและคนพิการ

คดีอุ้มหายในประเทศไทยที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครม ได้แก่

  • คดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ทำคดีให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนยกฟ้องหลายคดี และถูกอุ้มหายไปเมื่อปี 2547
  • คดีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พยานคนสำคัญในคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รื้อทำลายและเผาหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปในปี 2557
  • คดีของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่หายตัวไปเมื่อปี 2561 ขณะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศลาว
  • คดีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งหายตัวไปในขณะที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2563

อุ้มหาย + ซ้อมทรมาน

การอุ้มหายไม่ใช่แค่การลักพาตัวไปซ่อนเท่านั้น แต่โดยทั่วไป การอุ้มหายจะมาพร้อมกับการซ้อมทรมาน (Torture) ซึ่งผู้ที่ถูกอุ้มหายจะถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดร้ายและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ถูกอุ้มหายส่วนใหญ่จะถูกปกปิดชะตากรรมและไม่ได้รับการปล่อยตัว ทำให้ครอบครัวและสังคมไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ และแม้ว่าจะรอดชีวิตออกมาได้ แต่ก็ยังคงมีอาการบาดเจ็บทางร่างกายและทางจิตใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย เนื่องจากการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

อุ้มหาย = ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เว็บไซต์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ระบุว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายในทุกๆ ครั้งนั้นได้ละเมิดสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัย สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและถูกปฏิบัติหรือลงโทษอย่างโหดร้าย สิทธิที่จะไม่ถูกกักขังอย่างไร้มนุษยธรรม สิทธิในการได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิการเป็นบุคคลตามกฎหมาย และสิทธิในชีวิตครอบครัว

ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน – อุ้มหาย?

เนื่องจากการอุ้มหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงได้มีการบังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ในปี 2553 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ แต่อนุสัญญาฉบับนี้กลับยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างทางการในประเทศ ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย” ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook