กันยาเดือนโหด

กันยาเดือนโหด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้เป็นต้นมาจะสังเกตได้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เริ่มได้อย่างรุนแรงอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ว่าเป็น เกลียวมรณะ หรือ Death Spiral ที่จะเริ่มรุนแรงขึ้นเป็นวัฏจักรที่หยุดไม่ได้

สภาวะโลกสะบัดร้อนสะบัดหนาวผลจาก โลกร้อน นี้ กระจายไปยังทั่วโลก ซึ่งมีทั้งน้ำท่วมจากพายุ และสึนามิ และแผ่นดินไหว

ผมจะลำดับเหตุการณ์จากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและบีบีซี ดังนี้

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่แอฟริกาตะวันตกหลังพายุฝนกระหน่ำอยู่หลายสัปดาห์ ทำให้ผู้คนอพยพไร้ที่อยู่อาศัย 30,000 คน ในประเทศอะกาเดซ (Agadez) และประเทศไนเจอร์ (Niger) โดยมีโรคระบาดที่ตามมาคือ มาลาเรียและอหิวาต์

วันอังคารที่ 22 กันยายน 2552 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ถนนบ้านเรือนอยู่ใต้น้ำ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจียต้องประกาศภาวะฉุกเฉินใน 17 เคาน์ตี (County) เทียบได้กับอำเภอของไทย

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2552 น้ำท่วมใหญ่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผลจากพายุกิสนา (Ketsa) ทำให้ผู้คนเสียชีวิตราว 325 คน มีผลกระทบต่อประชาชน 2 ล้านคน ต้องอพยพไร้ที่อยู่อาศัยอีก 567,000 คน นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศเวียดนามมีคนเสียชีวิต 162 คน และบาดเจ็บอีก 179 คน และยังทำให้กัมพูชาบ้านเรือนพังพินาศไป 92 หลังที่จังหวัดกัมพง โทม ห่างจากกรุงพนมเปญไป 130 กิโลเมตร

วันอังคารที่ 29 กันยายน 2552 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริคเตอร์ทำให้ เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เข้ากระทบเกาะซาโมน (Samoan) และเกาะตองกา (Tonga) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ใกล้เกาะฮาวายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 111 คน

วันพุธที่ 30 กันยายน 2552 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริคเตอร์ บนเกาะสุมาตราทำให้บ้านเรือนพังพินาศเสียหายมีผู้คนเสียชีวิตกว่า 770 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 2,400 คน และล่าสุดไต้ฝุ่น ป้าหม่า ถล่มฟิลิปปินส์ซ้ำสอง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ผู้คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 15 คน วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 อีกครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากภัยน้ำท่วมภาคใต้อินเดีย 200 คน ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 100,000 คน

และล่าสุดก็ยังมีรายงานอีกว่า ธนาคารโลกได้ศึกษาวิจัยและแถลงข่าวที่กรุงเทพฯนี่เอง ว่าสมมุติว่าอีก 40 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลกจะต้องใช้เงินถึง 35 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อคงรักษาสภาพความปลอดภัยของประเทศตนเอง ซึ่งจะเป็นเงินงบประมาณสำหรับการปกป้องรักษาชายฝั่งทะเลป้องกันน้ำท่วมและการป้องกันเส้นทางเชื่อมต่อคมนาคม

ภาพเกลียวมรณะคงชัดขึ้น แต่มนุษย์อย่างเราคงจะต้องดิ้นสู้ต่อไปแหละครับ ไม่มีทางเลือก.

รองศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล

boonmark@rus.ac.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook