หมอยง ยืนยันแม้ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ไม่เกี่ยวข้องความรุนแรงโรค วัคซีนยังใช้ได้ผล

หมอยง ยืนยันแม้ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ไม่เกี่ยวข้องความรุนแรงโรค วัคซีนยังใช้ได้ผล

หมอยง ยืนยันแม้ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ไม่เกี่ยวข้องความรุนแรงโรค วัคซีนยังใช้ได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาจารย์หมอยง โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค วัคซีนที่กำลังใช้อยู่ยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

วานนี้ (25 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา และวัคซีนที่กำลังมีการนำมาใช้ โดยมีเนื้อหารายละเอียดดังนี้

"โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามวิวัฒนาการ

ไวรัสก่อโรคโควิด-19 เริ่มต้นจากประเทศจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) และเมื่อระบาดมาสู่นอกประเทศจีน สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีกว่าและแบ่งลูกหลานออกเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine)

สายพันธุ์ G มีวิวัฒนาการได้มากกว่า แพร่กระจายโรคได้มากกว่าจึงพบส่วนใหญ่ในขณะนี้ สายพันธุ์ G ได้แพร่กระจายลูกหลานเป็นสายพันธุ์ GH (Histidine) GR (Arginine) และ GV (Valine) ขณะนี้สายพันธุ์ GV มีเป็นจำนวนมาก

การระบาดในประเทศอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ GR แต่ก็มีสายพันธุ์ GH ได้ แต่น้อยกว่า ไม่พบการศึกษาสายพันธุ์ในประเทศพม่าแต่เข้าใจว่า เมื่อระบาดที่ประเทศพม่าส่วนใหญ่จะเป็น GH เพราะสายพันธุ์ที่พบจากคนไทยผ่านแดนมาจากพม่าเราตรวจพบเป็นสายพันธุ์ GH ทำนองเดียวกันสายพันธุ์ที่สมุทรสาครก็เป็นสายพันธุ์ GH

นอกจากสายพันธุ์แล้ว ขณะนี้ที่พูดถึงกันมากถึงสายพันธุ์ของอังกฤษและแอฟริกาใต้ คือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในบริเวณหนามแหลมหรือสไปค์ (Spike) ที่ยื่นออกมาจากตัวไวรัส โดยเฉพาะส่วนที่จะมายึดติดกับเซลล์ของมนุษย์ที่เรียกว่าตัวรับหรือ ACE2 ในตำแหน่งกรดอะมิโนที่ 501 โดยแต่เดิมแอสพาราจีน (N) เปลี่ยนเป็นไทโรซีน (Y) และเข้าใจว่าจะทำให้การเกาะได้ดีขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอีกตำแหน่งหนึ่งที่จะทำให้ระบบ Enzyme ตัดส่วนสไปค์ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ดีขึ้น รวมทั้งการศึกษาทางด้านระบาดวิทยา รายละเอียดทั้งหมดคงจะต้องรอการศึกษาในแนวลึกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้จึงยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook