กรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้

กรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้

กรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง การเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ความว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก

ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก ประกอบกับอุณหภูมิต่่าสุดในช่วงเช้าบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาวในปีนี้ ลักษณะอากาศบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงแปรปรวน โดยจะมีฝนตกในบางช่วงแต่ปริมาณไม่มากนัก ส่วนบริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

พร้อมเผย 7 จังหวัดที่อาจจะหนาวที่สุดของปีนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ จังหวัดพะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน สกลนคร เลย และ นครพนม

 

กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ช่วงฤดูหนาว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนหมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ และได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก) และ 4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย)

สำหรับกลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
1.โรคไข้หวัดใหญ่
2.โรคปอดอักเสบ
สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัย

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกทานอาหารที่ผลิตอย่างปลอดภัย ปรุงสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนทาน

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่
1.โรคหัด ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง
2.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่
1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว คือ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว งดการดื่มแอลกอฮอล์
2.การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษ ซึ่งฤดูหนาวจะมีประชาชนท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเรื่องที่น่าห่วงคืออาจได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน จึงควรระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่างๆ ในการป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook